นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 การสรุปผลการศึกษาโครงการการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) จากเสาตอม่อของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร – นวมินทร์) ซึ่งกระทรวงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยใช้เสาตอม่อดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และมอบหมายให้ สนข.ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยศึกษาความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมครอบคลุมครบทุกมิติ โดยผลศึกษาได้ข้อสรุปว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และทางพิเศษ (ทางด่วน) บนแนวสายทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรูปแบบการพัฒนาทั้งระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนตามที่ สนข. เสนอ ประกอบด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ส่วนเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และส่วนทดแทน N1 เนื่องจากแนวถนนรัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน และประเสริฐมนูกิจ เป็นแนวเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกกับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอก การพัฒนาเฉพาะระบบรถไฟฟ้าจึงไม่เพียงพอสำหรับรองรับการเดินทางอื่นๆ ที่ต้องผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว ซึ่งมีทั้งการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนบุคคลและการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางทดแทนในกรณีที่โครงข่ายถนนระดับพื้นดินไม่สามารถใช้งานได้ เช่น เกิดอุทกภัย เป็นต้น
นายชัยวัฒน์กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีส้ม โดยจะมีการก่อสร้างอาคารจอดแล้วจรที่แยกบางกะปิ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน
อย่างไรก็ตาม ระบบทางด่วนจะเป็นการต่อขยายแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข – ทางพิเศษศรีรัช – ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่ต่างระดับรัชวิภา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยแนวโครงการจะเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกมาตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแนวคลองบางบัว คลองบางเขน แล้วเลียบขนานไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา รวมระยะทางประมาณ 17.2 กม.
The post สรุปแผนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เชื่อม 7 สาย ปี 68 ได้ใช้ appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment