ผู้ประกอบธุรกิจ SME โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เพราะไม่ยุ่งยาก มีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องทำบัญชีตาม พรบ.การบัญชี และหากจะเลิกประกอบกิจการก็ไม่ยุ่งยาก ผู้ประกอบธุรกิจมือใหม่จึงสามารถทำการลองผิดลองถูกได้
ซึ่งหากต่อมาดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี มีกำไร มีรายได้ที่มากขึ้น และเสียภาษีมากขึ้น จึงพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจเป็นแบบนิติบุคคล ซึ่งจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า คือ สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 จากอัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะอยู่ที่ร้อยละ 35 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก
การคำนวณเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา
จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า คือ มีรายได้มาก เสียภาษีมาก มีรายได้น้อย เสียภาษีน้อย โดยเริ่มต้นจากอัตราร้อยละ 5 – 35 ดังนี้
-เงินได้สุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
-เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 5
-เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 10
-เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 15
-เงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 20
-เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 25
-เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 30
-เงินได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีอัตราร้อยละ 35
การคำนวณเสียภาษีในรูปแบบนิติบุคคลทั่วไป
จะเสียภาษีในอัตราตายตัว คือ ร้อยละ 20 แต่หากเป็นนิติบุคคลในรูปแบบธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME จะเสียภาษีแบบขั้นบันได คล้ายกันกับของบุคคลธรรมดา แต่มีจำนวนขั้นน้อยกว่า ดังนี้
-กำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
-กำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 – 3,000,000 บาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 15
-กำไรสุทธิตั้งแต่ 3,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีอัตราร้อยละ 20
จากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลข้างต้น มีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ความแตกต่างดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำมาวางแผนการประกอบธุรกิจได้ ว่าเมื่อใดควรประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา และเมื่อใดควรประกอบธุรกิจแบบนิติบุคคล โดยเฉพาะธุรกิจแบบ SME
ความเห็นของผู้เขียน หากผู้ประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา มีเงินได้สุทธิ (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน) เริ่มมากกว่า 1 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรจะต้องพิจารณารูปแบบการประกอบธุรกิจแบบนิติบุคคลโดยเฉพาะนิติบุคคลประเภท SME ซึ่งจะทำให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า ส่งผลให้มีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเสียภาษีลดลง และจะมีความน่าเชื่อถือของกิจการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการวางแผนทางภาษีอากรตามช่องทางของกฎหมาย ไม่ได้เป็นการหลีกหนีภาระภาษีแต่อย่างใด แม้ว่าจะทำให้รัฐได้รับภาษีอากรลดลงก็ตาม
Columnist : สกล อยู่วิทยา
The post ภาษี ที่ SME ควรต้องรู้…..ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 2) appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment