Tuesday, October 9, 2018

โจร!! ในคราบผู้ค้าออนไลน์ ส่งของหลอกเก็บเงินปลายทาง

ยิ่งโลกออนไลน์โตไว การค้าการขายก็เป็นเรื่องที่แสนจะสะดวก เรียกได้ว่าแค่ไม่กี่ขั้นตอนง่ายๆ คือเลือกสินค้าที่ชอบจากร้านค้าออนไลน์ที่มีจำนวนมหาศาล เมื่อเจอร้านที่ถูกใจ ก็จ่ายเงิน ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งจ่ายผ่านบัตรเครดิต โอนให้พ่อค้าแม่ค้า หรือบางรายไม่มีธุรกรรมในมือถือหรือไม่อยากยุ่งยากก็เลือกวิธี ส่ง แล้ว “เก็บเงินปลายทาง” เพียงเท่านี้ สินค้าที่คุณอยากได้ก็พร้อมจะมาหาถึงหน้าบ้าน

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าจู่ๆ มีสินค้ามาส่ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่ง แล้วคุณก็ได้แต่เซ็นรับพร้อมกับจ่ายเงินไปแบบงงๆ เพราะคิดว่าเงินไม่กี่บาท ช่างมันเถอะ นั่นล่ะค่ะ ช่องโหว่ช่องใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ มิจฉาชีพในคราบแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ปลอมๆ ถือโอกาสนี้ โกงกันแบบดื้อๆ  ซะเลย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Worawut Ungnapathanin  ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า

น่าทึ่งและนับถือในความขี้โกงแต่ฉลาดมากๆ ของคนจริงๆ

วันนี้ไปขนส่งเจ้านึง เห็นมีคนส่งพัสดุอยู่เจ้านึงส่งของเยอะมาก เต็มเคาน์เตอร์ทุกที่ ระหว่างที่เราส่งก็เลยถามและแอบสืบกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นของใคร และขายอะไรถึงได้ขายดีขนาดนี้

“ไม่รู้เหมือนกันครับ ว่าเขาส่งอะไรแต่น่าจะเป็นพวกเครื่องประดับครับ เช่นตุ้มหู เคสโทรศัพท์ ฯลฯ พวกนี้ครับ”
“โอ ขายดีขนาดนั้นเลยเหรอครับของพวกนี้”
“ไม่รู้ครับน่าจะอย่างนั้นแต่ว่าเขาก็เปลี่ยนชื่อร้านำปเรื่อยนะครับ ห้างทองมั่ง แกดเจตบลาๆมั่ง เยอะครับ แต่ว่าส่งทุกวันเลยนะครับ วันนึงราวๆพันกล่องได้”
“โอโห เยอะมากๆเลย”
“แต่แปลกอยู่อย่างครับ ทุกกล่องเก็บเงินปลายทาง และตีกลับเยอะมาก น่าจะครึงต่อครึงเลยครับ”

แค่นี้ผมร้องอ๋อเลย!!

พวกนี้เขาน่าจะซื้อของจากจีนมา เคส เครื่องประดับ อะไรก็ได้ ซึ่งต้นทุนไม่น่าเกิน 10-20บาท เอามาแพคใส่กล่องและส่งไปตามที่อยู่ต่างๆเรื่อยๆ (ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาเอาที่อยู่มาจากไหนนะ แต่คิดว่าไม่น่ายาก ถ้าจะเอาจริงๆ) จากนั้นพอของไปถึง คนส่วนมากก็จะจ่ายไปเพราะไม่มั่นใจว่าสั่งอะไรไปรึเปล่า และราคาแต่ละกล่องจะไม่สูงมากเป็นมาตรฐานเลย ไม่เกิน 200 บาท จึงไม่คิดมากอะไร บางทีพ่อแม่ก็รับแทน จ่ายแทน จะมีก็แค่ครึ่งนึงที่รู้ทันและไม่รับของและให้ตีคืนไป แต่ก็นั่นแหละครึ่งเดียว

สำหรับกรณีที่ว่าเขาต้องโทรหาก่อนที่จะส่งของ นั่นอีกล่ะ ผมคิดว่าก็มีจำนวนไม่ใช่น้อยที่ตัวเองไม่รู้ว่าเราสั่งอะไร หรือบางทีอาจจะสั่งอยู่แต่ยังมาไม่ถึงเลยคิดว่าน่าจะเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็คิดไปว่าคงเป็นแฟนหรือใครในบ้านสั่งไป.. อันนี้เป็นนิสัยของคนไทยอย่างเราๆอยู่แล้ว ขนาดผมเองกลับมาบ้านเจอของวางอยู่ชื่อเราเลย ถามว่าใครรับ? ก็พ่อแม่เรานี่แหละ แต่ก็ไม่มีจากขนส่งโทรมานะ?ว่าจะเข้ามาส่ง… เห็นมั้ยล่ะว่ามันมีช่องโหว่เยอะแยะ

ประเด็นหลักๆคือจิตวิทยาที่เขาใช้น่ากลัวมาก เพราะคนที่ได้รับของไปถึงแม้ว่าจะไม่ได้สั่งแต่แกะออกแล้วเจอ เคส มั่ง เครื่องประดับมั่ง ก็จะรู้สึกแค่ “อะไรวะ สั่งตอนไหน?” แต่ก็ไม่ถึงกับจะไปฟ้องร้องแจ้งความเอาเรื่องให้เสียเวลา เพราะจำนวนเงินก็ไม่เยอะมากมาย

ทีนี้มาดูที่เขาได้กัน
ค่าส่ง 40 ค่ากล่อง 3บาท (ส่วนมากใช้กล่องเล็กอยู่แล้ว จะใช้กล่องใหญ่ให้แพงทำไม) ค่าของในกล่อง 20บาท รวมต้นทุน 63บาท

เก็บปลายทาง200บาท
ถ้ามีคนจ่ายกำไรทันที 137บาทต่อกล่อง

ส่งวันนึง 1000กล่องสำเร็จ400กล่อง (สมมติฐานนะจ้า ไม่ใช่เลขเป้ะๆ อาจจะน้อยหรือมากกว่าก็ได้ แต่ตัวผมคิดว่ามากกว่านี้)
400*137= 54,800บาท!! ต่อวัน!!

(ผมลืมลบค่าส่งที่ไม่สำเร็จด้วย 600 กล่อง แต่ผมว่าไม่ต้องลบหรอกเพราะกล่องเก่าที่กลับมาเอามาใช้ใหม่ ก็เท่ากับไม่มีกล่องที่ล้มเหลวแล้ว พูดง่ายๆ สุดท้ายแล้วทั้ง 1000 กล่องนั้นก็ต้องสำเร็จ 100% อยู่ดี ส่งครั้งต่อไปต้นทุนจะเหลือแค่ค่าส่งอย่างเดียว 40 บาทไม่ใช่ 63 บาทแล้ว ใช่ปะ)

นั่นเท่ากับเดือนนึงกำไร 1,644,000บาท!!!??? บ้าไปแล้ว

จะไม่ให้ผมนับถือในความฉลาดโกงๆของเขาได้ไง อาศัยรอยโหว่ของการขนส่งไทยนิดเดียว ทำเงินได้มหาศาล จีเนียสมากๆ

ของตีกลับมาไม่ต้องทำไรเลย เอาที่อยู่ใหม่แปะทับ แล้วก็ไปส่งใหม่ ง่ายๆสวยๆ

แต่ไม่ใช่ว่าควรทำตามนะ เพราะเป็นการค้าที่ทุเรศมากๆเช่นกัน นับถืิอเพียงแต่ความฉลาดและเจ้าเล่ห์ของเขาก็พอ รับประกันได้ว่าพวกนี้ทำได้ไม่เกิน1ปี เป็นต้องเผ่นทุกราย แต่กว่าจะถึงเวลานั้นก็ลองคำนวณเอาว่าเขาโกยไปเท่าไหร่แล้ว

#กลโกงพันล้าน
#ใจพี่มันน่ากราบ
#ต้องคอยระวังในการรับของเก็บปลายทางให้มากขึ้นละ

ซึ่งแน่นอนว่าโพสต์นี้ถูกแชร์ต่อกันไปเป็นจำนวนมาก บางคนเจอกับตัวเอง บางคนคิดไม่ถึงกับความฉลาดแกมโกงซึ่งสรรหาวิธีใหม่ๆ มาใช้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ยังไงก็ขอให้ระวังตัวและหมั่นสังเกตความปกติของกล่องพัสดุที่มาส่งให้ดีๆ ถ้ามั่นใจว่าเราไม่ได้สั่ง ส่งคืนให้ไวแบบไม่ต้องลังเล ดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณที่มา : FB Worawut Ungnapathanin

The post โจร!! ในคราบผู้ค้าออนไลน์ ส่งของหลอกเก็บเงินปลายทาง appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment