Monday, October 22, 2018

ระบบกงสี ธุรกิจระหว่าง “เตี่ย” กับ “ตี๋” ยังดีอยู่ไหม?

ธุรกิจกงสีดั้งเดิมเป็นธุรกิจกองกลางของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทุกคนมีส่วนร่วมในการผลิตการค้าการขาย กฎกติกาข้อตกลงสำคัญคือรายได้จากการทำธุรกิจต้องเก็บรวมไว้ในกงสีหรือกองกลาง ห้ามนำเข้ากระเป๋าตัวเองโดยเด็ดขาด ค่าใช้จ่ายทั้งส่วนรวมและส่วนตัวของแต่ละคนก็จะหยิบหรือเบิกจากเงินกองกลาง ปกติก็มักจะมีอากงหรือปู่เป็นเถ้าแก่ใหญ่ ลูกหลานทุกคนเป็นสมาชิกในกงสี ถ้าอากงตายไปลูกคนโตก็จะรับหน้าที่เป็นเถ้าแก่ใหญ่ดูแลธุรกิจต่อ ส่งต่อธุรกิจกงสีกันแบบรุ่นต่อรุ่น

 ปัญหาใหญ่ของระบบกงสีแบบดั้งเดิมก็คือ

1. จำนวนสมาชิกของกงสีเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากสมาชิกที่เป็นลูกแต่งงานมีลูกมีหลาน สมาชิกใหม่นอกครอบครัวหรือตระกูลดั้งเดิมเข้ามาร่วมกงสีในฐานะเขยหรือสะใภ้ บทบาทที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษก็คือบรรดาสะใภ้ทั้งหลายที่เรียกกันว่า “อาซ้อ” เกิดปัญหาความไม่ลงรอยกับบรรดาญาติพี่น้องในครอบครัว และเมื่อสิ้นบุญอากงเสาหลักของกงสีปัญหาอาจรุนแรงถึงขั้นแตกหัก ทะเลาะกัน พี่น้องแยกออกจากกงสีไปทำธุรกิจต่างหากซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน กลายมาเป็นคู่แข่งคู่แค้นกันเอง ธุรกิจกงสีเดิมอ่อนแอลงรอวันล่มสลาย

2. ธุรกิจกงสีเติบโตมีเงินมีทองเพิ่มมากเป็นเท่าทวีคูณ ทำให้เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์จากกงสีกองกลาง มีการเบียดบังเงินทองเอาไปเป็นของตนเองผิดกฎผิดข้อตกลงของกงสี เกิดการทะเลาะกันแบบไม่มีใครยอมใคร

เมื่อธุรกิจกงสีแบบดั้งเดิมเกิดปัญหา จึงเกิดการนำเอารูปแบบธุรกิจกงสีแบบใหม่เข้ามาใช้ด้วยการจัดโครงสร้างของธุรกิจให้เป็นระบบด้วยการจดทะเบียนเป็นบริษัทครอบครัว (Family Business) แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นของสมาชิกในครอบครัวอย่างชัดเจน ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มักจะเป็นพี่ใหญ่และลดหลั่นการไปตามลำดับ กำหนดอำนาจการบริหารการตัดสินใจที่เป็นรูปแบบ เกิดการทุ่มเทเวลาและสติปัญญาในการบริหารธุรกิจอย่างเต็มที่ ผู้ที่มีความสามารถก็จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นใหญ่เป็นผู้บริหารสูงสุด โดยสมาชิกทุกคนในครอบครัวยังคงมีผลประโยชน์ร่วมกัน ผลประกอบการของธุรกิจออกมาดีผลตอบแทนที่แบ่งกันตามหุ้นหรือตามความรับผิดชอบก็ดี ไม่เกิดความรู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบกันของสมาชิกในครอบครัวมากนัก มีความรักความสามัคคีดีกว่าระบบกงสีแบบดั้งเดิมที่ไม่มีรูปแบบบริษัทเช่นนี้

เมื่อการดำเนินธุรกิจของธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จอาจมีการแตกธุรกิจออกเป็นหลายบริษัท วิธีปฏิบัติก็คือให้สมาชิกในครอบครัวถือหุ้นไขว้กันในทุกบริษัทอย่างเหมาะสม พี่น้องก็แบ่งกันไปเป็นผู้บริหารสูงสุดของแต่ละบริษัทตามความถนัดและความสามารถ ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและใช้ความรู้ความสามารถของพี่น้องสมาชิกในครอบครัวอย่างแท้จริง การเข้ามาของสมาชิกคนนอกครอบครัวทั้งเขยและสะใภ้ก็คือโอกาสในการเพิ่มทรัพยากรบุคคลเข้ามาช่วยงานการบริหาร เขยบางคน สะใภ้บางคนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเลยก็มี

แม้รูปแบบการดำเนินธุรกิจกงสีจะเปลี่ยนจากแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบใหม่คือแบบธุรกิจบริษัท ปัจจัยสำคัญก็ยังอยู่ที่เรื่องของ “คน” สมัยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุค Baby Boomer ครอบครัวมักมีลูกหลายคน บางครอบครัวมีลูกเป็นสิบคนก็มี แถมผู้ชายบางคนมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของคนที่จะมาช่วยงานหรือรับช่วงต่อในการบริหารธุรกิจต่อจากพ่อแม่ ถึงกระนั้นก็ยังเกิดปัญหาในเรื่องแนวคิดการทำธุรกิจระหว่างที่เรียกว่า “เตี่ย” กับ “ตี๋” อันเนื่องมาจากเตี่ยหรือพ่อเป็นคนรุ่นเก่าบุกเบิกธุรกิจมากับมือประสบการณ์สูงมักจะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมไม่ชอบเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในขณะที่ตี๋หรือลูกชายเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสเรียนหนังสือจบปริญญาทั้งในเมืองไทยหรือประเทศทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจแต่มักไม่ได้รับความเห็นชอบจากเตี่ยที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

บทเรียนธุรกิจกงสีหรือธุรกิจครอบครัวที่เห็นก็คือธุรกิจมักเกิดปัญหาหรือล่มสลายในรุ่นที่สาม ผู้ริเริ่มบุกเบิกธุรกิจรุ่นแรกที่ก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาจะทำงานหนักพากเพียรเต็มที่ พอตกรุ่นที่สองก็ยังเห็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำงานหนักก็พร้อมร่วมกันทำงานสร้างกิจการสานต่อพ่อแม่ แต่พอถึงรุ่นที่สามที่เกิดในโลกยุคใหม่ในสภาพที่ครอบครัวมีความพร้อมมีความสะดวกสบายทำให้ไม่เห็นความยากลำบากของคนรุ่นอากงหรือเตี่ย ไม่มีประสบการณ์จริงในการทำงานอย่างเพียงพอ ขาดความมุ่งมั่นใส่ใจในธุรกิจกงสีหรือธุรกิจครอบครัวเหมือนรุ่นแรกรุ่นสอง แถมรุ่นสามบางคนไม่ชอบไม่ต้องการที่จะเป็นทายาทรับต่อธุรกิจ ฝันที่จะมีอิสระและทำธุรกิจของตัวเองหรือไปเป็นคนทำงานเป็นผู้บริหารในองค์กรใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลกมากกว่า สมัยนี้ครอบครัวมีลูกน้อยทำให้พ่อแม่ไม่มีทางเลือกมากนัก เป็นเหตุไปสู่การสิ้นสุดธุรกิจครอบครัวได้ในรุ่นที่สาม

มรดกทรัพย์สินเงินทองและมูลค่าของธุรกิจกงสีที่แม้จะจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัทแล้วมีการทำพินัยกรรมแบ่งมรดกทรัพย์สินเงินทองไว้แล้วก็ยังมีเรื่องภายในกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายตระกูลดังถึงขั้นเกิดคดีการเข่นฆ่ากันเอง การฟ้องร้องแย่งชิงมรดกกันในบรรดาพี่น้องเขยสะใภ้จนยากที่กลับมารักสมัครสมานทำธุรกิจร่วมกันเหมือนแต่ก่อน ล่าสุดก็คือกรณีแม่ฟ้องร้องลูกตัวเองจนกลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ความยั่งยืนของธุรกิจกงสีจึงไม่ใช่เพียงแค่จดทะเบียนเปลี่ยนเป็นธุรกิจครอบครัวแบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นแต่ต้องกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจแบบบริษัทหรือองค์กรที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง การเปลี่ยนรูปแบบจากบริษัทจำกัดมาเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นตลาดใหญ่(SET)หรือตลาดรอง(MAI)โดยที่เจ้าของและหุ้นส่วนธุรกิจเดิมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% และเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปลงทุนถือหุ้น 20-30% ข้อดีก็คือ

1.  เป็นบริษัทมหาชนที่ได้รับการรับรองจากตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ได้รับความเชื่อถือทั้งภายในและต่างประเทศ

2.  มีรูปแบบการบริหารที่เป็นมาตรฐาน มีคณะกรรมการบริหาร กรรมการอิสระ ผู้บริหารมืออาชีพ

3.  มีระบบการรายงานการดำเนินงาน ธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ มีกฎระเบียบรองรับ

4.  ระดมทุนเพื่อการพัฒนาและขยายธุรกิจ ลดภาระดอกเบี้ย เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาธุรกิจใหม่ ร่วมมือกับพันธมิตรหรือคู่ค้าอื่น

5.  สมาชิกครอบครัวกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นผู้บริหารตามความรู้ความสามารถ ผู้อาวุโสวางมือในการทำงานบริหารได้โดยง่ายแต่ยังได้รับผลประโยชน์จากหุ้น ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องไม่มีทายาทมาสานต่อธุรกิจ

ธุรกิจกงสีหรือธุรกิจครอบครัวจำนวนไม่น้อยได้เลือกรูปแบบนี้ทำให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากและยังเป็นการกระจายผลตอบแทนไปให้กับนักลงทุนที่พร้อมจะเอาเอาเงินมาลงทุนส่งเสริมธุรกิจอีกด้วย แต่ถ้าเจ้าของธุรกิจกงสี หรือ ธุรกิจครอบครัวยังไม่ยอมรับการนำธุรกิจเข้าตลาดก็สามารถทำได้แต่ต้องเปิดรับการใช้ระบบมาตรฐานการบริหารแบบบริษัทที่เข้าตลาดอย่างเคร่งครัดจริงจัง

The post ระบบกงสี ธุรกิจระหว่าง “เตี่ย” กับ “ตี๋” ยังดีอยู่ไหม? appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment