Saturday, October 13, 2018

จาก คลังข้อมูลน้ำ ของพระราชา สู่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ

เมื่อปี พ.ศ. 2538 เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และทรงพบว่าข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศไทยยังขาดการบูรณาการ

จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำของประเทศไทย จนเกิดเป็น “โครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยมอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รับผิดชอบดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อและเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจากระบบดังกล่าว ได้ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านเว็บไซต์ทรงงานส่วนพระองค์ weather901 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทรงงานที่มีข้อมูลน้ำ ลม ฝน แสดงผลอยู่ในหน้าเดียวกัน ทรงติดตามสถานการณ์น้ำผ่านเว็บไซต์นี้เป็นประจำ ทำให้ทรงทราบสถานการณ์ฝนและน้ำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

จากพระราชดำริที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบข้อมูลน้ำของประเทศไทย ที่เปรียบเสมือน “คลังข้อมูลน้ำของพระราชา” ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กามาหชน) หรือ สสนก. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ขยายผลการพัฒนาระบบเป็น “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีข้อมูลจาก 35 หน่วยงาน 390 รายการ ประกอบด้วย ข้อมูลติดตามสภาพอากาศ เช่น เส้นทางพายุ ภาพถ่ายจากดาวเทียม การติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศจากค่าความสูงน้ำทะเลและอุณหภูมิผิวน้ำทะเล แผนภาพคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลองสภาพอากาศ และข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ปริมาณและระดับน้ำในเขื่อน เส้นทางและผังการระบายน้ำ แสดงปริมาณการไหลของน้ำที่ตำแหน่งต่างๆ ระดับน้ำในแม่น้ำและลำน้ำสายสำคัญ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล สำหรับติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ  

นอกจากนี้ คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ยังเปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ Mobile Application ชื่อ ThaiWater ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศได้ด้วยตนเอง

ที่มา : http://www.most.go.th/main/th/knowledge/sti-genius-of-king/7375-2018-06-20-03-21-25

The post จาก คลังข้อมูลน้ำ ของพระราชา สู่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment