ทรูมันนี่ เผยว่า จากข้อมูลของ ETDA ระบุว่า ในปี 2561 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงกว่า 10 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3 ชั่วโมง 47 นาที และใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ที่ 93.64% แน่นอนว่าในโลกอินเทอร์เน็ตที่เสมือนคลังข้อมูลมหาศาล สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วฉับไว เป็นโลกใบใหม่ไร้พรมแดนที่เชื่อมโยงผู้คนทุกเพศทุกวัยจากหลากหลายเชื้อชาติให้มาเจอกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยล้วนมาจากผู้คนร้อยพ่อพันแม่ หนึ่งในคนเหล่านั้นคือ “มิจฉาชีพ” ที่จ้องหาผลประโยชน์และใช้สื่อโซเชียลเป็นสะพานเชื่อมล่อลวงเงินจากกระเป๋าหรือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้กลายเป็น “เหยื่อ” โดยไม่รู้ตัว
ไซแมนเทค ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องข้อมูล เคยเปิดเผยรายงานภัยคุกคามความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตประจำปี 2559 ระบุประเทศไทยติดอันดับที่ 11 ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีการหลอกลวงทางโซเชียลมีเดียวันละเกือบ 82 ครั้ง เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับสังคมไทยให้เดินหน้าไปสู่ยุค Cashless society ทรูมันนี่ หนึ่งในผู้นำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จึงได้เผย 5 กลโกง… โอนเงินออนไลน์ ประกอบด้วย
- หลอกให้โอนเงินช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดีย มิจฉาชีพจำพวกนี้จะใช้วิธีปลอมตัวเป็นญาติพี่น้องหรือคนรู้จักของเราเพื่อขอยืมเงินโดยอาจมีการนำรูปภาพหรือสร้างบัญชีขึ้นโดยเฉพาะ หรือทำการแฮ็กบัญชีโซเชียลมีเดียเพื่อสวมรอยแอบอ้าง โดยที่ญาติหรือคนรู้จักเราอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าโดนสวมรอยอยู่ ทางที่ดีเราควรโทรเช็คเพื่อยืนยันตัวตนให้ชัดเจนก่อน และควรเข้าไปตรวจสอบหน้า feed เพื่อพิจารณาลักษณะการโพสต์ และหากยิ่งเป็นเพื่อนที่ไม่ได้ติดต่อกันมาเนิ่นนานแล้วอยู่ๆ ทักมา ให้พึงระวังไว้ให้ดี
- หลอกว่าได้รางวัลใหญ่ ให้โอนเงินไปให้ก่อนเป็นค่าธรรมเนียมหรือยืนยันรับสิทธิ์ มิจฉาชีพจำพวกนี้มักใช้รางวัลจากแคมเปญการตลาดของแบรนด์ต่างๆ ทางหน้าสื่อมาล่อลวงเรา แต่ทางที่ดีที่สุดคือการพิจารณาตัวเองให้ดีก่อนว่า เราเคยส่ง SMS ไปลุ้นของรางวัลพวกนี้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่จริงและไม่เคยส่งไปแทบจะ 100% ให้คิดว่าเป็นการล่อลวงแน่นอน ยิ่งเจอข้อความแชทมาแกมบังคับให้โอนเงิน โดยเอาของรางวัลหรือเงินก้อนใหญ่กว่ามาล่อ แนะนำให้ท่านรีบแคปเจอร์หน้าจอและเเจ้งความดำเนินคดีไว้ดีที่สุด หรือแจ้งไปยังแบรนด์นั้นๆ
- หลอกให้ซื้อของราคาถูก สำหรับขาช็อปออนไลน์ และชื่นชอบของ Sale ต้องระวังการหลอกลวงลักษณะนี้ให้ดี ต้องเตือนตัวเองไว้ตลอดว่าของถูกและได้ฟรีไม่มีในโลก ขนาดแอปฯ หรือเครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ที่เราใช้ฟรีกันทุกวันนี้ยังมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของเราไปเลย ดังนั้นเรื่องโอนเงินเพื่อให้ได้ของราคาที่ถูกกว่านั้นลืมไปได้เลย ยิ่งเดี๋ยวนี้เราสามารถสั่งซื้อของออนไลน์ และจ่ายเงินปลายทางได้แล้ว ยิ่งไม่จำเป็นที่ต้องโอนเงินอะไรให้ก่อนทั้งนั้น
- หลอกให้โอนเงินไปบริจาคต่อ สำหรับท่านที่มีจิตกุศลชื่นชอบการทำบุญมักตกเป็นเหยื่อได้โดยง่ายต่อมิจฉาชีพในลักษณะนี้ ฉะนั้นก่อนโอนเงินทำบุญในเรื่องอะไรก็ตาม ลองตรวจสอบถึงที่มาที่ไปสักนิด เช่น โครงการที่มิจฉาชีพกล่าวอ้างเป็นตัวแทนรับบริจาคนั้นมีจริงรึเปล่า และลองเช็คข่าวสารการรับบริจาคเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านช่องทาง Official ของโครงการหรือมูลนิธินั้นๆ ก่อนตัดสินใจโอนเงินทำบุญ
- หลอกให้เปิดบัญชีเพื่อรับส่วนแบ่ง กรณีนี้ที่เห็นได้ชัดเลย คือ ข้อความโฆษณาชวนเชื่อตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่ชวนคุณไปทำงานออนไลน์เสริมรายได้แบบสบายๆ ซึ่งรูปแบบการล่อลวงมักจะมีการขอให้คุณเปิดบัญชีไว้เพื่อใช้สมัครทำงาน โดยจะมีเงินเข้ามาและคุณต้องโอนเงินนั้นต่อไปอีกบัญชี เสมือนคุณโดนหลอกและตกเป็นเครื่องมือให้กับขบวนการฟอกเงิน โดยเจียดรายได้บางส่วนให้จริง กรณีนี้เหยื่อที่โดนหลอกจะเข้าไปอยู่ในขบวนการทันที และมีความผิดตามกฎหมาย
ที่มา : ทรูมันนี่
The post เปิดโปง 5 กลโกง… ที่มิจฉาชีพนิยมใช้หลอกให้โอนเงินออนไลน์ appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment