หลายๆ หน่วยงานในประเทศไทยอยากเป็นองค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization)
หลายๆ องค์กรอยากให้คนในองค์กรมีหัวใจแห่งความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Organization)
แต่หลายๆ องค์กรยังไม่เข้าใจหรือยังไม่มี DNA เด่นในการสร้างนวัตกรรมหรือหัวใจแห่งความเป็นผู้ประกอบการ
เมื่อไม่มีแก่น ความยั่งยืนก็ไม่มีทางเกิดได้
แก่นในที่นี้เริ่มต้นจากผู้นำขององค์กร
ผู้นำองค์กรที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องมี DNA เด่นของการประสบความสำเร็จ อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำ 5 กล้า มีความกล้า 5 อย่าง
- ผู้นำต้องกล้าคิดในสิ่งที่ดี แตกต่างและท้าทาย
ผู้นำต้องสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในองค์กรให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้นได้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องมีฝัน ฝันที่จะเห็นองค์กรของตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และผู้นำต้องประกาศความฝันนั้นให้ทุกคนในองค์กรรู้เหมือนๆ กัน เรียกได้ว่าต้องกล้าคิดในสิ่งที่ดี แตกต่างและท้าทายความสามารถของตัวเอง คนในองค์กรเพื่อทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริง
- ผู้นำต้องกล้าลงมือทำในสิ่งคิด
ผู้นำบางคนชอบคิด แต่พอจะทำกลับไม่กล้า สิ่งที่คิดจึงไม่ถูกผลักดันไปสู่การลงทำจริง การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องคิดและทำเสมอ เวลาองค์กรประกาศจะทำอะไรซักอย่าง สิ่งที่ทุกองค์กรเป็นเหมือนกันหมดคือ พนักงานทุกคนจะหันไปมองผู้นำก่อน ถ้าผู้นำเริ่ม พนักงานจะเริ่ม ถ้าผู้นำอยู่เฉยๆ พนักงานก็จะอยู่เฉยๆ เป็นเรื่องปกติ ถ้าใครลงมือทำโดยที่ผู้นำไม่สนใจก็คงได้ทำงานฟรี เสียเวลาเปล่า ผู้นำจึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการลงมือทำ หรือที่ฝรั่งเค้ามักใช้คำว่า “เป็น Role Model” ของน้องๆ องค์กรถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
- ผู้นำต้องกล้าพูดความจริง
หลายครั้งที่ผู้นำคิดและทำได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาผู้นำกลับเงียบ ไม่กล้าพูดความจริงออกมา ทำให้พนักงานขาดศรัทธาจากผู้นำ ผู้นำองค์กรจึงต้องเป็นคนที่รับทั้งผิดและรับทั้งชอบ ภาษาไทยจึงใช้คำว่า ต้องมี “ความรับผิดชอบ” บางองค์กรต้องการการเปลี่ยนแปลง ถ้าประสบความสำเร็จด้วยดี ชั้นรับ แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น ชั้นขอชิ่งไปก่อนหล่ะ อันนี้ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อไหร่ องค์กรนั้นนอกจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว พนักงานจะเกิดอาการกลัวความเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย
- ผู้นำต้องกล้าสร้างความฮึกเหิมทีมงาน
ผู้นำหลายคน นอกจากไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ แล้วยังไม่กล้าเป็นศูนย์รวมจิตใจของทีมงาน บางคนไม่กล้าสร้างความฮึกเหิม บางคนไม่รู้ว่าการสร้างความฮึกเหิมทำอย่างไร ต้องไปเรียนรู้ครับ ในภาวะที่ต้องการเปลี่ยน เปลี่ยนให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น หรือกำลังต่อสู้กับภาวะขาดทุนใกล้ล้มละลาย ถ้าทีมงานไม่มีเป้าหมายเดียวกันกับผู้นำ ไม่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จที่ฝันไว้ คงไม่มีทางไปถึงจุดหมายได้ หรือถ้าได้ก็คงใช้เวลายาวนานหลายปี ถึงเวลานั้นองค์กรอาจไม่รอดถึงวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้
- ผู้นำต้องกล้าสนับสนุนให้ทีมงานเสนอความคิดเห็นและลงมือทำ
โลกเปลี่ยนเร็ว หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ไม่อย่างนั้นจะมีลูกน้องไว้ทำอะไร ผู้นำจึงต้องกล้าสนับสนุนให้ลูกน้องกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถาม กล้าปรึกษา กล้าที่จะโง่ ผู้นำต้องกล้าที่จะเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ว่าจะกระตุ้น สนับสนุน ให้กำลังใจ หรืออำนวยความสะดวกต่างๆ ก็แล้วแต่ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการถึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ
เมื่อผู้นำมี DNA เด่น หรือเป็นผู้นำ 5 กล้าแล้ว เป้าหมายจะเหนื่อยยากแค่ไหน โอกาสประสบความสำเร็จก็มีอยู่เสมอ
ผู้นำที่จะส่งสารที่ดีไปถึงทีมงานได้นั้น ต้องเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่นำคน นำทีมและนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ยิ่งถ้าเราต้องการทำสิ่งใหม่ สิ่งที่แตกต่าง และสิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือหลายคนเรียกมันว่า นวัตกรรม ยิ่งต้องมีความเป็นผู้นำ 5 กล้ามากขึ้นไปอีก
*** การทำสิ่งใหม่ที่แตกต่าง หรือนวัตกรรมนั้นโดยทั่วไปจะทำได้ใน 2 ระดับ
- การสร้างสิ่งใหม่ แตกต่างให้เกิดขึ้นทั้งองค์กร
ทำให้คนทุกคนหันมาช่วยกันผลักดัน กระตุ้น สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทั้งองค์กร หรือ ใครๆ ก็คิดอะไรใหม่ๆ ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือที่ SCG บริษัทที่ผมอยู่มาเกือบ 20 ปี เป็นองค์กรที่ตั้งใจทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นกับพนักงานทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่อยู่ในหน่วยงานวิจัยเท่านั้น
การผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่กับทุกคนในองค์กร ต้องเริ่มจากการสร้างผู้นำที่ใช่!!! ผู้นำ 5 กล้า!!! เพื่อนำไปสู่การวางกลยุทธ์ที่ดี การจัดการความรู้ภายในองค์กร การบริหารคนในทุกระดับ การพัฒนากระบวนการใหม่ๆ
และสุดท้ายคือ การสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างให้มีเงินเข้า คนในองค์กรพอใจ ลูกค้าดีใจ และชุมชนสังคมสนับสนุน
- การสร้างสิ่งใหม่ แตกต่างให้เกิดขึ้นในตัวคนหรือทีม
การพัฒนานวัตกรรมแบบนี้คือการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะคนหรือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะแตกต่างจากแบบแรก
คนเก่งหรือคนที่มีความสามารถสูงจะสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากเดิมมาก
สิ่งที่ต้องทำคือ การผลักดันงานวิจัยหรือนวัตกรรมออกไปสู่เชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม หรือเชิงสังคมให้ได้
หรือเรียกว่า ทำให้สิ่งที่คิดกลายเป็นจริงและใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมให้ได้
เปลี่ยนจากกระดาษเป็นการกระทำจริง
ถ้าทำงานคนเดียวก็คงไม่เป็นไร แต่ทุกงานไม่มีทางทำคนเดียวได้
ต้องมีเพื่อน มีทีม สุดท้ายก็ต้องมีความกล้า ไม่อย่างนั้นงานก็เสร็จช้า ทีมงานหนีหมด
*** การทำงานในหน่วยงานเดียวกันให้สำเร็จก็ว่ายากแล้ว การทำงานที่ต้องใช้หลายหน่วยงาน หลากหลายศาสตร์มาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า ยิ่งยากขึ้น
ตัวอย่างที่ผมเคยทำในมหาวิทยาลัยมหิดลเช่น การทำงานร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมวิชาชีพฯ
ทั้งสองศาสตร์กับหนึ่งสมาคมวิชาชีพฯ จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Co-Creation หรือ Collaboration หรือ Intregration หรือ Convegence ก็แล้วแต่
แต่มันคือการร่วมกันสร้างให้เกิด 1+1 มากกว่า 2 อาจเป็น 3, 4, 5 หรือ 10 เลยก็เป็นไปได้
โดยการนำจุดแข็งของแต่ละคนเติมเต็มจุดอ่อนของกันและกันเพื่อสร้างพลังสูงสุด
หากจะให้สรุปสั้นๆ
ผู้นำต้องสร้างความท้าทาย Challenge สร้างการมีส่วนร่วม Co-Creation สร้างเป้าหมายร่วม Shared Vision และสร้างการสื่อสารที่ชัดเจน Communication
แนวคิดของผู้นำที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้จำเป็นต้องสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Added) ให้เกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าองค์กรนั้นกำลังทำสินค้า บริการหรือกระบวนการก็ตาม
หากไม่มีแก่น ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปรไปตามสิ่งที่ต้องการทำแบบฉาบฉวย เหมือนอย่างที่หลายๆ องค์กรทำเรื่องการจัดการความรู้ (KM: Knowledge Management) แล้วบอกว่า ไม่เห็นมีประโยชน์ เบื่อจะทำเอกสาร เพราะเรายังเข้าไม่ถึงแก่นของมัน เราแค่เข้าถึงเปลือกที่ไม่ทำให้เกิดการหมุน (Spiral) ซึ่งเป็นหัวใจของ KM
*** ทุกๆ ธุรกิจก็ไม่ต่างกัน
ผู้นำถือเป็นจุดรวมใจขององค์กรที่ต้องมี DNA เด่นในการผลักดันงานให้ประสบความสำเร็จ
และผู้นำที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเป็น “ผู้นำที่เป็นผู้กล้า” เท่านั้นจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
หลายครั้งเรามักจะบอกว่า ความยากที่สุดในการทำงานให้สำเร็จคือ “เรื่องคน”
คำพูดนี้จริงมากๆ แม้แต่ตัวเราเอง การผลักดันอะไรซักอย่างให้สำเร็จ เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไง
เมื่อต้องทำกับคนอื่นๆ ที่เกิดมาไม่เหมือนกัน ผ่านประสบการณ์โชกโชนไม่เหมือนกัน
ความเป็นผู้นำที่ดีจะช่วยให้งานทุกอย่างสำเร็จได้ง่ายขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น
สมัยนี้ไม่มีใครทำงานคนเดียวแล้วครับ มันยากมาก ต้องมีเพื่อน มีทีม การทำทีมให้ดี มุ่งเป้าเดียวกันต้องเริ่มจากตัวเรา แล้วทุกงานจะสำเร็จได้โดยง่าย ถามว่า ”วันนี้คุณเป็นผู้กล้าแล้วหรือยัง”…สวัสดี
GURU : ดร.พยัต วุฒิรงค์
The post ความกล้า 5 อย่างที่คนเป็นผู้นำต้องมี appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment