Wednesday, July 11, 2018

CDIP เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยงานวิจัย รุกจัดเทรนนิ่งเอสเอ็มอี เพื่อชนะทั้งแวลูเชน

เมืองไทยเราร่ำรวยด้วยทรัพยากรธ รรมชาติ ดินอุดม น้ำสมบูรณ์ จะเพาะจะปลูกพืชผลใดก็เจริญงอกงามดี จนบางปีเกษตรกรต้องประสบกับภาวะ ผลผลิตล้นตลาด อันนำไปสู่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนึ่งในทางออกที่สำคัญคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CDIP มุ่งมั่นทำมาโดยตลอด โดยพยายามเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมกันต่อยอดงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทย ก่อนจะผลักดันเป็นสินค้า Health Care คุณภาพ จำหน่ายในเชิงพาณิชย์

 

ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นเกษตรกรหรือเอสเอ็มอีไม่โดนกดราคา และจำใจต้องขายข้าวเป็นกระสอบ เพราะ CDIP ได้ช่วยนำข้าวที่ชาวนาปลูกมาสกัดเป็นน้ำมันรำข้าว เพื่อต่อยอดทำเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร คนทำปศุสัตว์ เช่น ฟาร์มจระเข้ นอกจากขายเนื้อ ขายหนัง หากนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ ก็จะได้เป็นเจ้าของน้ำมันจระเข้ที่เป็นส่วนผสมชั้นดีในเครื่องสำอางที่ช่วยลดรอยสิว รอยแผลเป็นอย่างได้ผลชะงัดนัก จนมัดใจตลาดผู้บริโภคจีนได้สำเร็จ ขณะที่ถั่งเช่าไทยก็สามารถแปรรูปได้ไม่รู้จบ ทั้งอาหารเสริม ยาสมุนไพร เครื่องดื่มหรืออาหาร นี่คือตัวอย่างของการแปลงร่างสินค้าทางการเกษตรของไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสิบๆ เท่า

ดร.สิทธิชัย เองจบปริญญาเอกจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม ส่วนปริญญาตรี จบสายตรงมาทางเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้มาก่อตั้ง CDIP เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสะสมองค์ความรู้ด้าน R&D มากว่า 8 ปี ด้วยตัวบริษัทมีที่ตั้งอยู่ในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ซึ่งมีมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ นับร้อยจากหลากหลายสาขาเป็นแบ็คอัพ นี่ยังไม่นับรวมมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศด้านการวิจัยเป็นพาร์ทเนอร์ร่วม

CDIP ยังถือเป็นสหภาพรายแรกๆ ของโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis นอกจากนี้ โดยพื้นฐานครอบครัวของ ดร.สิทธิชัย เอง ยังประกอบธุรกิจโรงงานรับจ้างผลิตยา อาหารเสริม สมุนไพร ในนามโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี ที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อ

สุขภาพชั้นนำของประเทศจำนวนมาก แถมยังมีทะเบียน อย. การันตีกว่า 1,500 ใบ องค์ประกอบเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เขาตั้งปณิธานที่จะขยายผลการทำงานไปสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คนตัวเล็กที่ขาดโอกาสมากขึ้น

เริ่มต้นด้วยการตั้งสถาบัน Training by ioi ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากวิจัยและพัฒนาที่สั่งสมไว้ กลั่นเป็นหลักสูตรการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกช้อปปิ้งความรู้พื้นฐาน ที่สามารถนำไปปฏิบัติกับธุรกิจเล็กๆ ของตนได้จริง อาทิ การแปรรูปข้าว ส้ม มะกรูด มะนาวที่ล้นตลาด เป็นผลิตภัณฑ์สารพัดชนิด ทั้งสบู่ อาหารเสริม อาหาร ครีม เป็นต้น รวมทั้งสอนขึ้นทะเบียน อย. ด้วยตนเอง ตลอดจนการออกแบบโรงงานและการทำมาตรฐาน GMP

“พอเทรนนิ่งเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผู้ประกอบการส่วนมากอยากจะอัพเกรดสินค้าของตนเอง เช่น เดิมทำผลิตภัณฑ์ OTOP ขายในตำบล มีครัวเรือนเป็นโรงงาน ก็อยากจะโตมากกว่านี้ ต้องการทำมาตรฐานสินค้า เพื่อขายระดับประเทศหรือแม้กระทั่งส่งออก เพียงแต่อุปสรรคสำคัญคือ เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรม ไม่มี Pilot Plant ที่จะพัฒนาสินค้าไปด้วยกัน ไม่มีเงินทุนตั้งโรงงานผลิต ที่สำคัญคือ ไม่มีคอนเนคชั่นกับช่องทางจำหน่ายที่มีศักยภาพ CDIP จึงต้องการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้ครบทั้ง Value Chain เพื่อให้เอสเอ็มอีโตได้ แม้จะทำเล็กๆ ก็ตาม”

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการนำร่องที่เขาปลุกปั้นขึ้นมาคือ โครงการ ‘กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการใหม่ สาขาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ’ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม หรือ DECC ซึ่งเป็นหน่วยบริการหนึ่งใน สวทช. โดย CDIP รับไม้ต่อมาเปิดรับสมัครผู้ประกอบการจำนวน 50 กิจการ ผ่านทางออนไลน์ ใครสนใจสามารถเข้ามาอบรมฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรด้วยนวัตกรรมและดีไซน์ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จากแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสู่ตลาดรีเทล ก่อนจะคัดเลือกผู้ประกอบการให้เหลือเพียง 20 กิจการ ติวเข้มอีกรอบเพื่อนำเสนอ 20 ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมา และจับคู่ธุรกิจต่อไป

“รอบแรกผมเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการทุกราย แต่รอบคัดเลือกผมพิจารณาจากความตั้งใจ ดูแววว่าเขาพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน บางคนเป็นผู้ประกอบการใหม่ บางคนมาตัวเปล่า แต่เข้าอบรมทุกรอบ ยกมือถามแล้วถามอีก ผมก็พร้อมสนับสนุน ขณะที่บางคนเป็นเซียนสัมมนา เจอทุกรอบ แต่ไม่เคยนำความรู้ไปพัฒนาก็มี ถึงแม้จะเป็นทุนให้เปล่า แต่ผมก็ต้องการจะสนับสนุนเอสเอ็มอีที่จริงจัง และต้องการทำจริงๆ เช่นเดียวกับลูกค้าที่เราเชิญมาเป็นกรรมการ เช่น เจ้าของธุรกิจ ช่องทางจำหน่ายชั้นนำอย่างร้านยาฟาสซิโน ดีทแฮล์ม ทีวีไดเร็ค หากสินค้าที่พัฒนาขึ้นมาเจ๋งจริง ไม่เหมือนใคร และเป็นที่ต้องการของตลาด ลูกค้าก็อาจจะสั่งพรีออเดอร์เลย เท่ากับเอสเอ็มอีได้ออเดอร์ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงทุนสักบาท และยังสามารถนำพรีออเดอร์ไปดำเนินการกู้ยืมเงินธนาคารได้อีกด้วย

สำหรับความสำเร็จของโครงการ ผมมองว่ามี 4 องค์ประกอบสำคัญด้วยกัน คือ 1.) Pilot plant เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2.) การขึ้นทะเบียน อย. 3.) โรงงานผลิต นอกจาก JSP เรายังมีโรงงานที่เป็นพาร์ทเนอร์อีกด้วย 4.) Matching โดยพาเอสเอ็มอีไปพบผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการสินค้าใหม่ เราเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกันหมด ทุกฝ่ายต่างทำในสิ่งที่ตนถนัด และต่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน เรียกว่า All Win ทุกคนแฮปปี้ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งตอบโจทย์นโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ช่วยกันพัฒนาสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาสามารถขายได้จริง และขายได้แพงด้วย เพราะเป็นสินค้าใหม่ ไร้คู่แข่ง ไม่ใช่ทำของเลียนแบบ ขายตัดราคากันเอง คือถ้าไม่ใหม่ เราไม่ทำ แล้วลูกค้าก็ไม่ซื้อด้วย”

อย่างไรก็ดี การจับมือกับทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มิใช่โครงการแรกของ CDIP เสียทีเดียว ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทเคยร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้ง สวทช. ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวมาแล้ว โดยเปิดรับผู้ประกอบการจำนวน 200 ราย มาเข้ารับการอบรมให้ความรู้ ก่อนจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ราย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีนโยบายสนับสนุนสินค้าทางการเกษตร อาทิ บางจาก โครงการหลวง เป็นต้น

“ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป เขามักจะมาหาเราในลักษณะเกษตรอินทรีย์ รักในท้องถิ่น ต้องการช่วยเหลือชุมชน ไม่ได้อยากยิ่งใหญ่ เงินไม่ใช่ตัวไดร์ฟ ต้องการจะทำสินค้าขายแค่ในชุมชน เช่น เยลลี่ข้าว โดยไม่ใส่สารกันเสีย แค่มีคนสนใจมาศึกษาดูงาน สหกรณ์ชุมชนมีรายได้ก็เพียงพอแล้ว ถือเป็นอีกกลุ่มที่เราภูมิใจที่ ได้ช่วยเหลือให้เขาพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง”

ภารกิจต่อไปที่นักวิจัยที่เก่งด้านการบริหารอย่าง ดร.สิทธิชัย มองไว้คือ การปัดฝุ่นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กว่า 100 งาน ที่ยังไม่เคยนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์มาก่อน โดย CDIP รับหน้าที่จับมาแมทชิ่งกับผู้ประกอบการที่คัดเลือกมาแล้วจำนวน 7 ราย ผู้ประกอบการเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และขายสินค้าอยู่ในห้างอยู่แล้ว เพียงยกโมเดล Training, Pitching และ Matching ไปวาง ก็สามารถกรุยทางนำองค์ความรู้ออกมาสู่ตลาด ผลักดันงานวิจัยบน ‘หิ้ง’ ไปขาย บน ‘ห้าง’ ได้เป็นผลสำเร็จ

“เมืองไทยเรามีทรัพยากรธรรมชาติเยอะที่สุดในโลก แต่หลายคนอาจไม่ทราบ ผมจึงอยากช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน คือถ้าผู้ประกอบการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ เช่น สารสกัดสาหร่ายสีแดงจากญี่ปุ่น เวลาไปออกบูธที่ต่างประเทศ คุณเจอคู่แข่งแน่นอน หลายประเทศใช้กันเยอะ แต่ถ้าคุณใช้สารสกัดจากน้ำมันรำข้าวที่ Made in Thailand คุณชนะทุกประเทศ คนไทยก็ชนะด้วย เช่นเดียวกับน้ำมันจระเข้นั้น ฟาร์มจระเข้ที่ใหญที่สุดในโลกอยู่ที่เมืองไทย ได้จากจระเข้ยี่ห้อชาละวันที่มีแต่เมืองไทยเท่านั้น อย่างสับปะรดที่ล้นตลาดอยู่นี้ ก็สามารถแปรรูปได้อย่างหลากหลาย เช่น ทำเป็นเครื่องดื่มหรือลูกอมวิตามินซีจากสับปะรด สกัดเอนไซม์ทำเป็นอาหารเสริมดูแลเรื่องข้อเข่า หรือครีมฟอกผิวขาวจากสับปะรดที่พัฒนาด้วยนาโนเทค

คือผมภูมิใจทุกครั้งที่ได้มีส่วนพัฒนาสินค้าทางการเกษตรจากงานวิจัย และผลิตด้วยโรงงานรับจ้างสายสีขาวที่ได้มาตรฐาน ได้เห็นธงไทยติดอยู่บนขวดผลิตภัณฑ์ และหวังว่าจะมีหน่วยงานสนับสนุนมาช่วยกันอีกหลายแรงๆ เพื่อช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของไทย และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของไทยให้ไปได้ไกลในตลาดโลกมากขึ้นต่อไป” ดร.สิทธิชัย กล่าว

 

The post CDIP เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยงานวิจัย รุกจัดเทรนนิ่งเอสเอ็มอี เพื่อชนะทั้งแวลูเชน appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment