Monday, July 30, 2018

มธ.ส่ง “เรือสำรวจขนาดพกพา” รับมือน้ำท่วม – กักเก็บน้ำยามฝนทิ้งช่วง

รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ทีมนักวิจัย ได้คิดค้นและพัฒนา “เรือสำรวจขนาดพกพา” นวัตกรรมเรือบังคับวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับวัดระดับความลึกท้องน้ำ เพื่อคำนวณความสามารถของแม่น้ำหรือคูคลอง ในการรองรับปริมาณน้ำ

สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว สามารถใช้งานกรณีเกิดอุทกภัยและกรณีฝนทิ้งช่วง พร้อมแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time) บนสมาร์ทโฟน โดยสามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว่า 3 ชั่วโมง ในระยะทางควบคุม 500 เมตร มีค่าความผิดพลาดระดับความลึกโดยเฉลี่ย 3 เซนติเมตร ที่ระดับความลึกสูงสุดที่ได้ทดลองใช้งาน 20 เมตร ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่าง ระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (IoT: Internet of Things) และการจัดทำแผนที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เข้าด้วยกัน

โดยการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ

  1. อุปกรณ์ระบบโซนาร์วัดความลึกจากผิวน้ำ พร้อมอุปกรณ์จีพีเอส (GPS) ที่ช่วยระบุตำแหน่งของเรือบังคับ
  2. อุปกรณ์วัดค่าคุณภาพน้ำในระดับพื้นฐาน ได้แก่ ค่าอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen: DO)
  3. และ 3. อุปกรณ์ชุดอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (IoT) เพื่อบันทึกค่า และส่งข้อมูลไปยัง Cloud Server โดย “การวัดระดับความลึกท้องน้ำ” ใช้อุปกรณ์ระบบ

โซนาร์ วัดความลึกจากท้องเรือลงไปถึงพื้นคลองหรือร่องน้ำ และสามารถแสดงผลข้อมูลเรียลไทม์บนสมาร์ทโฟน ทีมวิจัยสามารถประมวผลข้อมูลระยะความลึกที่ได้ มาเทียบกับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (Mean sea level) และจัดทำแผนที่ระดับความตื้น-ลึกของแหล่งน้ำใน ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับแบตเตอรี่ในระหว่างการสำรวจในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มระยะเวลาการสำรวจได้นานขึ้น

ทั้งนี้  เรือสำรวจขนาดพกพา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากมิติ อาทิ การสำรวจคุณภาพน้ำ เพื่อทดสอบคุณภาพของน้ำว่า เหมาะแก่การใช้งานในภาคการเกษตรหรือไม่ การเป็นข้อมูลในการติดตามความตื้น-ลึกคูคลอง เพื่อวางแผนขุดลอกคูคลองรองรับปริมาณน้ำ แม้ในกรณีอุทกภัยสามารถใช้สำรวจพื้นที่น้ำท่วม และหาเส้นทางเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทีมวิจัยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่ตัวอย่าง จ.นครสวรรค์ และ จ.ปราจีนบุรี และสระเก็บน้ำในแปลงเกษตรทดลองของ มธ. อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสำรวจที่ผ่านมานั้น อาจจะต้องพึ่งพาเครื่องมือขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง และต้องอาศัยเจ้าหน้าที่วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินสำรวจ และประมวลผลระดับความลึกท้องน้ำ และต้องใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงใช้ระยะเวลาสำรวจและประมวลผลนาน ซึ่งนวัตกรรมนี้ จะช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าวได้ และยังสามารถเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านแหล่งน้ำในอนาคต  รศ.ดร.สุเพชร กล่าว

นอกจากนี้  “เรือสำรวจขนาดพกพา” เป็นผลงานวิจัยร่วมกับ ผศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล, ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ และ อาจารย์ณัฐพล จันทร์แก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยนวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยล่าสุด ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Switzerland) รศ.ดร.สุเพชร กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า ประเทศไทย ประสบปัญหาในการเตรียมขุดลอก พื้นที่แม่น้ำ คูคลอง เพื่อรองรับปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝนเป็นอย่างมาก ซึ่งสังเกตได้ว่า ในช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกัน ได้ก่อให้เกิดมวลน้ำจำนวนมากเกิดอุทกภัยและไหลเข้าพื้นที่นาข้าว และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ประสบปัญหาในการกักเก็บน้ำฝน ที่ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในช่วงหรือช่วงหน้าแล้ง คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของสังคมในด้านต่างๆ จึงมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยของคณาจารย์ในทุกมิติ ให้เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

The post มธ.ส่ง “เรือสำรวจขนาดพกพา” รับมือน้ำท่วม – กักเก็บน้ำยามฝนทิ้งช่วง appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment