Tuesday, July 31, 2018

นักวิจัยชี้แผ่นดินไหวอินโดฯ รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

ผศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงลักษณะของแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร บนเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวตื้นและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงแก่อาคารต่าง ๆ อีกทั้งนับเป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในช่วง 100 ปีบนเกาะแห่งนี้

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ทางตอนเหนือของเกาะลอมบอก ห่างจากภูเขาไฟรินจานีประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากเมืองมาตารัมซึ่งเป็นเมืองหลักบนเกาะลอมบอกประมาณ 50 กิโลเมตร จากสถิติแผ่นดินไหวในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา บริเวณรอบเกาะดังกล่าวมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 6.0 ขึ้นไปเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นบนเกาะลอมบอก จึงไม่มีความเสียหายจากแผ่นดินไหว แต่เนื่องจากเกาะลอมบอกนั้นตั้งอยู่บริเวณแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก Flores Thrust จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

นักวิจัยระบุว่า ลักษณะของแผ่นดินไหวล่าสุดเกิดจากการดันตัวขึ้นของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับแผ่นดินไหวที่อาจทำให้เกิดสึนามิ เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แต่ตำแหน่งของแผ่นดินไหวในครั้งนี้มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่บนเกาะมากกว่าในทะเล กอปรกับขนาดแผ่นดินไหวไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก จึงไม่ทำให้เกิดสึนามิ โดยแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก Flores Thrust เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2535 ที่บริเวณเกาะฟลอเรส ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากเกาะ ลอมบอกประมาณ 600 กิโลเมตร เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและสึนามิมากถึงประมาณ 2,500 คน

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดดินถล่มภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ประการแรกคือ ความรุนแรงของการสั่นสะเทือน รวมถึงความลาดชันของชั้นดิน ประเภทของดิน สภาพความชื้นของชั้นดิน และสภาพพื้นผิวหน้าดิน โดยแผ่นดินถล่มที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยมารวมกัน เนื่องมาจากตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นอยู่ห่างจากภูเขาไฟรินจานีเพียงเล็กน้อย กอปรกับมีอาฟเตอร์ช็อคขนาด 4.5-5.4 ที่ยังคงเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกัน จึงทำให้มีโอกาสที่จะยังเกิดดินถล่มได้อยู่ในช่วง 1 สัปดาห์จากนี้ไป

สำหรับความเสียหายของอาคารต่างๆ นั้น ผศ. ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างที่สร้างไม่ถูกหลักวิศวกรรม โดยเสาคอนกรีตมีหน้าตัดเล็กกว่า 20 ตารางเซนติเมตร และไม่มีเหล็กยืนหรือเหล็กปลอก จึงทำให้เกิดการพังทลายได้ง่ายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นับเป็นอาคารที่มีโครงสร้างอ่อนแอและทำให้มีผู้เสียขีวิตทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวรวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยเบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 14 คน อาจเนื่องมาจากแผ่นดินไหวเกิดตอนเช้า ทำให้ยังมีผู้คนอยู่ในอาคารเหล่านี้ ต่างจากกรณีแผ่นดินไหวแม่ลาวประเทศไทย ซึ่งเกิดเหตุในช่วงเย็นขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ความสูญเสียต่อชีวิตจึงมีน้อยกว่า

The post นักวิจัยชี้แผ่นดินไหวอินโดฯ รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment