Wednesday, May 23, 2018

ผ่าโครงสร้างราคาน้ำมัน ใครได้ประโยชน์มากสุด ?

น้ำมันขึ้นราคา ใครได้ประโยชน์ ผ่าโครงสร้างราคาน้ำมัน ดูโครงสร้างธุรกิจน้ำมันในประเทศ มองทิศทางมาตรการรับมือตรึงราคาน้ำมัน และ เครื่องมืออื่นที่จะรับมือราคาน้ำมันขาขึ้น

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ชน 30 บาทต่อลิตร หรือในบางผลิตภัณฑ์ทะลุง 30 บาทต่อลิตร ได้ส่งผลกระทบในทางจิตวิทยาของผู้คนในประเทศไทยกันอย่างมาก  ทำให้มีกระแสออกมาโจมตีบริษัทน้ำมัน  และรัฐบาลที่ไม่สามารถดูแลราคาได้ ด้วยหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ให้ปรับตัวสูงขึ้น  หรือง่ายๆ กระแสหวาดกลัวสินค้าราคาแพงกำลังหลอกหลอนสังคมไทยอยู่ในขณะนี้

ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นถูก หยิบยกนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านบางประเทศอย่างเช่น มาเลเชีย และ เมียนมา ที่ราคาต่ำกว่าบ้านเรามาก เพื่อปั่นกระแสความไม่พอใจของผู้คน ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาอธิบาย ไม่ว่าจำนวน บ่อน้ำมันของเรามีมากมายแต่ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพง เป็นต้น

ในขณะที่ภาครัฐและผู้ประกอบการด้านพลังงาน ต่างออกมาอธิบายถึง การปรับราคาน้ำมันขึ้น  4 ครั้งต่อเนื่อง ในเดือน พ.ค.2561 ว่าเป็นไปตามกลไกลตลาด  ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดต่างประเทศปรับสูงขึ้น  บริษัทน้ำมันในประเทศไม่ได้สูบเลือดคนไทย

วันนี้เราจะมาชำแหละ ราคาน้ำมันของบ้านเราว่า ใน 1 ลิตร มีค่าอะไรอยู่บ้าง  เหมาะสมหรือไม่ ใครได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด  หากนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเอาไม่อยู่  น่าจะมีมาตรการอะไรออกมารับมือได้บ้าง

โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย ประกอบด้วย ?

  1. ราคาหน้าโรงกลั่นหรือราคาเนื้อน้ำมัน 2. ภาษีสรรพสามิต 3. ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) 4. เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง 7. ค่าการตลาด 8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด

จากโครงสร้างราคาน้ำมัน มาดูว่าราคาน้ำมันต่อ 1 ลิตร จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ล่าสุด วันที่ 23 พ.ค.2561 เป็นอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง น้ำมันดีเซล

  1. ราคาหน้าโรงกลั่น                                                         19.3954       บาท
  2. ภาษีสรรพสามิต                                                               5.850        บาท
  3. ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล)                                          0.585        บาท
  4. เงินเก็บเข้า/อุดหนุน กองทุนน้ำมันฯ                                     0.01        บาท
  5. เงินเก็บเข้ากองทุนฯอนุรักษ์พลังงาน                                      0.1        บาท

(รวม 1-5 เท่ากับราคาชายส่ง                                                     25.9404    บาท)

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่มราคาขายส่ง 1.8158 บาท

(ราคาขายส่ง+ภาษีมูลค่าเพิ่ม                                                     27.7563    บาท)

  1. ค่าการตลาด 1.9007 บาท
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.1330  บาท

(ราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันเท่ากับ                                              29.79    บาท)

จากโครงสร้างราคาน้ำมัน ดังกล่าว จะมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนคือ

1 โรงกลั่นน้ำมัน 2 ผู้ค้าน้ำมัน(ขายส่ง) 3 ปั๊มน้ำมัน(ขายปลีก) 4 รัฐบาลในฐานะเป็นผู้เก็บภาษี

ดังนั้นในราคา 29.79 บาท มีผู้ที่ได้รับเงินไป ดังนี้

โรงกลั่นได้รับไป 19.3954 บาท

ผู้ค้าน้ำมัน/ปั๊มน้ำมัน (ขายปลีก) รับจากค่าการตลาด 1.9007 บาท

รัฐบาล ได้จากภาษีและเงินกองทุนฯ รับไป 8.4938 บาท

จากโครงสร้างราคาจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้รับเงินไปมากที่สุดจากราคาน้ำมัน 1 ลิตร คือ โรงกลั่น ซึ่งจะมีกำไรจะราคาการกลั่นเท่าไร ก็ขึ้นกับต้นทุนน้ำมันและค่าบริหารจัดการของโรงกลั่นซึ่งจะไม่ลงรายละเอียด รองลงมาคือ รัฐบาล ที่เก็บภาษีและเรียกเงินเข้ากองทุนน้ำมัน (ซึ่งปัจจุบันมีน้อยมาก คือ 0.01 และ 0.1 บาท) และ ผู้ค้าน้ำมัน และ ผู้ค้าปลีก หรือปั๊มน้ำมัน ที่ได้จากค่าการตลาด 1.90 บาท ซึ่งในส่วนค่าการตลาดนี้จะมีต้นทุนในเรื่อง ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าพนักงานฯ เป็นต้น

จากโครงสร้างที่แยกแยะออกมา บริษัทน้ำมัน นักวิชาการน้ำมัน ที่ออกมายืนยันว่า ราคาน้ำมันบ้านเราไม่ได้แพงเกินไป เพราะเป็นไปตามต้นทุนที่ยกมา แต่ เมื่อลองพิจารณาข้อเท็จจริง ของธุรกิจน้ำมันในเมืองไทย อดสงสัยไม่ได้ว่า ใครได้ประโยชน์ไปจากน้ำมันมากที่สุด และ เป็นธรรมหรือไม่อย่างไร ?

โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันทั้งสิ้น 6 โรง คือ

  1. บริษัท ไทยออยล์จํากัด (มหาชน) (TOP)
  2. บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (PTTGC)
  3. บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จํากัด (SPRC)
  4. บริษัท บางจากปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) (BCP)
  5. บริษัท ไออาร์พีซีจํากัด (มหาชน) (IRPC)
  6. บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (ESSO)

แต่ทราบหรือไม่ว่า ใน 6 โรงนั้น มี ปตท.ถือหุ้นอยู่ในโรงกลั่นถึง 3 แห่ง คือ ไทยออลย์ (สัดส่วน 49.10) ,พีทีทีโกลบอลฯ (สัดส่วน 48.79 ) , ไออาร์พีซี(สัดส่วน 48.05) , รวมกำลังการผลิตแล้วมีสัดส่วนการกลั่นน้ำมันมากที่สุดในระบบ

สำหรับสถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มน้ำมัน ปัจจุบัน ปตท. ถือเป็นรายใหญ่สุดมี จำนวนถึง 1,675 แห่งทั่วประเทศ จาก 5,197 แห่ง รองลงมาคือ PTG จำนวน 1,407 แห่ง, บางจากฯ จำนวน 1,075 แห่ง,  เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำนวน 542 แห่ง และ เชลล์ (ประเทศไทย) จำนวน 498 แห่ง

จะเห็นได้ว่า ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน และ ปั๊มน้ำมัน ของประเทศไทย ปตท.ถือเป็นเจ้าใหญ่ที่มีสัดส่วนของตลาดมากที่สุด  และ เมื่อดูจากโครงสร้าง ราคาน้ำมัน ตามที่แยกแยะออกมา ชัดเจนว่า ใครคือผู้ได้ประโยชน์ในราคาน้ำมันมากที่สุด  คำถามต่อมาคือ แล้วปัจจุบัน ใครมีหุ้นใน ปตท.มากที่สุด ?

จากโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นชัดเจนว่า กระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของปตท. ถึง 51% ดังนั้นคำถามก็คือ แล้วเหตุใด ปตท.ไม่สามารถดำเนินนโยบายใดๆในเชิงสังคม ราคาน้ำมันทำไมถึงต้องอิงตามตลาดโลก ทำไมปตท.รวยจากธุรกิจน้ำมันปีเป็นแสนล้าน โดยที่คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง แน่นอนคำตอบ ที่ ปตท.ยืนยันมาโดยตลอดคือ เนื่องจาก ปตท. เป็นบริษัท มหาชน ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น กระทรวงการคลัง หรือ รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปกำกับหรือสั่งการใดๆได้

วันนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าที่มีต้นทุนจากการใช้น้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เริ่มขยับ ขอปรับราคา สิ่งที่ภาครัฐออกมายับยั้งไว้ คือ การยืนยันว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยจะใช้กองทุนน้ำมันที่มีเม็ดเงิน อยู่ 30,000 ล้านบาท เข้าเป็นกลไกในการดึงราคาไว้ ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ทำได้ เพราะ เม็ดเงินเหล่านั้น เป็นเงินที่เก็บจาก ผู้ใช้น้ำมันโดยตรงอยู่แล้ว และ จากโครงสร้างการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในปัจจุบัน ถือว่า มีสัดส่วนน้อยมาก เพียง 0.01 บาท หรือแทบไม่ได้เก็บด้วยซ้ำ

ดังนั้น หากต่อไป ราคาน้ำมันประเภทอื่น ปรับตัวสูงขึ้น จะมีการเรียกร้องกดดันจากประชาชนเพื่อให้น้ำเงินกองทุนมาใช้ตรึงราคาน้ำมันด้วยหรือไม่..? และ เม็ดเงินที่มีอยู่จะสามารถตรึงราคาได้นานเท่าใด..? หาก ราคาตลาดโลกยังไม่ปรับลง? หาก เม็ดเงินกองทุนน้ำมัน หมดหน้าตัก จะมีวิธีการใดเพื่อรับมือ ? แน่นอน จากโครงสร้างของราคาน้ำมัน และ โครงสร้างของผู้ผลิต ผู้ประกอบการน้ำมันตามที่ยกมา และจากแนวทางที่รัฐบาลที่ผ่านๆมาใครใช้ ย่อมเป็นไปได้ว่า แนวทางการ ลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง น่าจะเป็นแนวทาง ที่รัฐบาลเลือกใช้ นั้นหมายถึง บริษัทน้ำมัน ยังคงมั่นคงและมีผลประกอบการที่เติบโตแบบคนใช้น้ำมัน ยังคงกังขา และตั้งคำถาม และคงทำได้เพียงระบายอารมณ์ลงในโลกโซเชียลกันต่อไป

The post ผ่าโครงสร้างราคาน้ำมัน ใครได้ประโยชน์มากสุด ? appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment