ร่างพ.ร.บ.สตาร์ทอัพตัดหน่วยงานเกี่ยวข้องออก เหลือ ก.วิทย์-คลัง ด้าน ก.อุตฯ หวั่น ลดขนาดลงอาจกระทบกับการดำเนินงานในอนาคต
รายงานข่าวจากภาคเอกชน เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความเป็นห่วงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น พ.ศ…. หรือ พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ จัดทำโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากการประชุมความคืบหน้าล่าสุดได้เปลี่ยนแปลงกรรมการโดยตำแหน่งที่เกี่ยวข้องใน พ.ร.บ.ฯ ออก เหลือเพียง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และปลัดกระทรวงการคลังเท่านั้น นอกนั้นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมติที่ประชุม ครม.แต่งตั้งจำนวน 6 ราย หรือไม่เกิน 8 รายเท่านั้น จากเดิมที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า หากการตั้งกรรมการที่เกี่ยวข้องไม่คลอบคลุม ระยะต่อไปอาจจะส่งผลต่อการประสานงานได้
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนรายชื่อกรรมการ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.อุตสาหกรรม ก.พาณิชย์ ก.เกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ซึ่งมีความคลอบคลุมการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอย่างเต็มรูปแบบ เพราะการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพแต่ละรายจะเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน เช่น การตั้งโรงงาน ต้องขอใบอนุญาตประกอบการกิจการโรงงาน (ร.ง.4) การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม การส่งเสริมการทำตลาด เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ การขอสิทธิประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวข้องกับบีโอไอ การหาผู้ร่วมลงทุนในกองทุน เกี่ยวข้องกับ ตลท.
“สาเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนกรรมการลดลง เนื่องจากผู้ร่าง พ.ร.บ.คือ กระทรวงวิทย์ มองว่าคณะกรรมการชุดเดิมที่กำหนดก่อนหน้านี้ใหญ่เกินไป ควรลดขนาดลง ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าการลดขนาดลงลักษณะดังกล่าวอาจกระทบกับกับการดำเนินงานในอนาคต จึงได้เสนอความเห็นไป” แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องนำกลับไปให้แต่ละหน่วยงานไปพิจาณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เช่น การตรวจสอบร่างดังกล่าวขัดกับกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ฉบับอื่นหรือไม่ และเรื่องสถานการณ์ตั้งศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นที่กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบนิติบุคคล แต่อยู่ภายใต้เอ็นไอเอที่มีรูปแบบองค์การมหาชน จะเป็นอย่างไร ระหว่างบทบาทเดิมและบทบาทการพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพราะความเป็นนิติบุคคลของศูนย์จะมีความยุ่งยาก จึงต้องไปหารือการจัดตั้งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ต่อไป
รวมทั้งการลงทุนร่วม การระดมทุน การถือหุ้นของกองทุน ที่ยังติดขัดปัญหาการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐแล้วห้ามขาดทุน ซึ่งในความเป็นจริงของการลงทุนสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงจะขาดทุนสูง
The post เอกชนหวั่นล่ม หลังร่าง พ.ร.บ.สตาร์ทอัพตัดหลายหน่วยงาน appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment