Tuesday, October 2, 2018

“ณพพงศ์ ธีระวร” ก้าวสำคัญของตัวแทน “คนตัวเล็ก” สู่ “พลังประชารัฐ”

หลังจากการเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางสปอร์ตไลฟ์ สายตาที่จับจ้องไปยังบุคคลที่เข้าร่วมทำงานการเมือง ภายใต้การขับเคลื่อนของ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ โดย ปรากฏชื่อของ “ณพพงศ์ ธีระวร” หรือ “ดร.เอก” ประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ในฐานะกรรมการผู้บริหารพรรค ด้วยเหตุใดทำให้นักธุรกิจหนุ่ม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและคลุกคลีอยู่ในวงการของ SMEs ไทยคนนี้เข้าร่วมลุยงานด้านการเมือง

เหตุผลที่พลิกบทบาทเข้ามาทำงานด้านการเมือง

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ง่ายเลย เพราะผมไม่เคยคิดที่จะเล่นการเมือง แต่ประสบการณ์การทำงานให้กับภาคเอกชนในด้านเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 15 ปี  ทำให้ผมเข้าใจปัญหาและข้อจำกัดของประเทศมากมายในการช่วยเหลือ “คนตัวเล็ก”

ผมไม่ได้บอกว่าผมจะเข้ามาปรับเปลี่ยนการเมืองได้ในพริบตา แต่อย่างน้อยขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหา และปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้กับพี่น้อง SMEs ที่ถือเป็นกำลังที่สำคัญมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ผมเห็นมันมาตั้งแต่เกิด ทั้งหมดคือความมุ่งมั่นที่ทำให้ผมได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในการก้าวสู่ถนนการเมืองในฐานะ “กรรมการบริหาร” ของพรรคพลังประชารัฐ

แนวทางการทำงานจะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่

แนวทางและความมุ่งมั่นของผมไม่เปลี่ยนแปลง บทบาทก่อนตัดสินใจทำงานการเมืองคือ การเป็นประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเป็นการทำงานให้กับคนตัวเล็ก ทำงานให้พี่น้อง SMEs ทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เราต่อเชื่อมนโยบายระหว่างภาครัฐให้ไปถึงมือคนตัวเล็ก ซึ่งเราเห็นถึงข้อจำกัดในส่วนของกลไกภาครัฐ  ดังนั้นแนวทางการทำงานด้านการเมืองของผมจึงเป็นไปตามที่เคยทำมา โดยเพิ่มเรื่องของการพยายามลดข้อจำกัดและช่องว่างระหว่างผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจากประสบการณ์ของเราน่าจะต่อเชื่อมเพื่อลดช่องว่างตรงส่วนนี้ได้ โดยอาจจะต้องปรับตัวตามกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้

“ดร.- นักวิชาการ” จะช่วยกำหนดนโยบายที่ตรงต่อความต้องการของฐานรากได้หรือ

คำว่า ดร. หรือ นักวิชาการ ต้องยอมรับว่าจะต้องผ่านงานด้านวิชาการมา ซึ่งในพรรคก็มี ดร. อยู่หลายคน มีทีมเด็กรุ่นใหม่ที่เปิดตัวไป และที่กำลังจะเปิดตัว เหล่านี้ล้วนเป็นคนที่มาจากผู้ปฏิบัติ มาจากภาคเอกชน ซึ่งเรามองเห็นช่องว่าง ข้อจำกัดต่างๆ ของภาครัฐ และเรามีความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาเพื่อเชื่อมต่อ หรือปิดช่องว่างเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ดร. หลายๆ คนที่เราเห็น แท้จริงแล้วเขาเป็นนักปฏิบัติตัวยง

กลัวหรือไม่ที่จะต้องต่อสู้กับนักการเมืองอาชีพ

เมื่อตัดสินใจแล้วต้องไม่มีคำว่ากลัว อย่างที่กล่าวไปสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจคือ เรามองเห็นว่าบางครั้งรัฐออกนโยบายมาแล้วตรงต่อความต้องการของประชาชนจริงๆ แต่มันถูกส่งมาถึงมือของประชาชนหรือผู้ประกอบการ SMEs ยากเหลือเกิน ความยากของกระบวนการเหล่านี้  ทำให้ผมซึ่งเป็นกระบอกเสียงของคนตัวเล็กมาตลอดตัดสินใจง่ายขึ้น ว่าควรจะถึงเวลาแล้วที่คนซึ่งรู้เรื่อง เข้าใจ อยู่กับปัญหาของSMEs มาโดยตลอดจะต้องเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ และหากมีเราคนเดียวพลังก็คงจะน้อยเกินไป ผมจึงชักชวนเพื่อนๆ หรือคนที่มีความคิดเห็นตรงกัน อยู่ในวงการเดียวกัน เข้ามาช่วยรวมพลังทำงานกับ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องราวดีๆ ให้ไปสู่มือของพี่น้อง SMEs ได้ง่ายขึ้น  ดังนั้นความกลัว จึงถือเป็นเรื่องที่เล็กมากทันที หากนับกับความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs

แนวทางของพรรคจะหยิบยกเอาเรื่อง SMEs มาเป็นหลัก

หากดูจากภาพรวมของกรรรมการบริหารพรรคแต่ละคนมาจากทุกภาคส่วน ดังนั้นแนวทางของพรรคจึงพร้อมดูแลในทุกภาคส่วน ในทุกมิติของประเทศ ซึ่งแนวทางที่เด่นคือการช่วยเหลือและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แน่นอนว่าจะต้องประกอบไปด้วยผู้ประกอบการ SMEs และนี่คือส่วนหนึ่งที่เราเข้ามาร่วมกันเพื่อที่จะต่อเชื่อมนโยบายไปถึงคนตัวเล็กอย่างแท้จริง

มั่นใจว่าการลงมา “เล่นการเมือง” จะมีโอกาสช่วยเหลือคนตัวเล็กได้

“เล่นการเมือง” ผมคงไม่เล่น แต่จะทำงานด้านการเมืองด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่น โดยมีความเชื่อมั่นว่าการเข้ามาทำงานตรงนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคนตัวเล็ก เป็นกระบอกเสียง ลดช่องว่างของนโยบายที่ถูกส่งถึงมือคนตัวเล็กได้มากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา

นี่คือแนวความคิดของนักการเมืองหน้าใหม่จากค่าย “พลังประชารัฐ” ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในวงการ SMEs เป็นเวลานาน ประสบการณ์ที่พบเจอจะช่วยสานต่อนโยบายรัฐให้เข้าถึงผู้ประกอบการได้ตรงเป้าหรือไม่ คงจะต้องรอคำตอบในการเลืองตั้งครั้งนี้

The post “ณพพงศ์ ธีระวร” ก้าวสำคัญของตัวแทน “คนตัวเล็ก” สู่ “พลังประชารัฐ” appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment