ยืนยันเสียงเดียว! อีอีซีคือโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ บีโอไอตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนรวม 300,000 ล้าน หอการค้าไทยชี้ค้าขายและส่งออกจะสูงขึ้น ฟากสมาคมธนาคารไทยมั่นใจนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 มีนักลงทุนยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 280,000 ล้านบาท ตลอดปีนี้บีโอไอ ตั้งเป้าหมายว่าจะมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 720,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวม 180,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 300,000 ล้านบาท
ในด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอได้วางมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าปกติของการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นให้สิทธิประโยชน์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic 2 Corridor of Innovation หรือ EECI) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้ และลดหย่อนอีกร้อย ละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี)
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาอีอีซีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีพัฒนาขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ความพร้อมของภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อนโยบายการลงทุนของประเทศ โดยการยกระดับภาคการผลิตในด้านต่างๆ ทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงยกระดับคุณภาพแรงงาน ให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมั่นว่านโยบายการพัฒนาอีอีซีจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยมากขึ้น
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกในปัจจุบันมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของไทย ที่จะเป็นการสร้างโอกาสของประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ และการเพิ่มความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมหลักเดิม ที่จะส่งผลต่อมูลค่าทางการค้าและส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้น จากความหลากหลายของสินค้าของไทยที่สามารถเจาะกลุ่มตลาดต่างๆ ในทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และบริการใหม่ๆ ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่จะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ มาเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ
ส่วนนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งจะสอดคล้องตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวของการส่งออก การท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น ซึ่งมาจากแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่างๆ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซี ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก และยังเป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้ด้วยดีและกระจายตัวไปยังเศรษฐกิจฐานรากอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม
The post ทุกภาคส่วนยัน EEC คือโอกาสทางเศรษฐกิจ appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment