Monday, August 27, 2018

เภสัชกรค้าน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ หวั่นเปิดช่องให้วิชาชีพอื่น

อย.เตรียมแถลงผลประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่วันนี้ (27 ส.ค.61) เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มเภสัชกร ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวที่เปิดช่องให้วิชาชีพอื่นเข้ามาจ่ายยาแทนได้ และอาจส่งผลต่อผู้บริโภค

ความคืบหน้าการออกร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำขึ้นแทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กลับถูกองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่อต้านอย่างหนัก เพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่จ่ายยาแทนเภสัชกร และอาจมีผลกระทบไปถึงผู้บริโภคได้

ล่าสุด ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชกรสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ ( 27 สิงหาคม 61) อย. จะจัดชี้แจงรายงานความคืบหน้า ภายหลังร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ผ่านการทำประชาพิจารณ์และเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ กลุ่มวิชาชีพเภสัชกรจะขอฟังฟังคำชี้แจงก่อนว่าสามารถตอบข้อซักถามได้ชัดเจนหรือไม่ ก่อนจะกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป เพราะหลังจากเปิดดูข้อกฎหมายมองเห็นจุดอ่อนและหลายอย่างไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มวิชาชีพเภสัชกร อีกทั้ง บุคลากรเภสัชกรก็ไม่ได้ขาดแคลน เพราะมีอยู่ถึง 3 หมื่นคน

ส่วนกรณีสภาการพยาบาลออกประกาศสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยอ้างว่าพยาบาลมีหลักสูตรการเรียนการสอนสามารถจ่ายยาได้ ว่า ปัจจุบันพยาบาลสามารถจ่ายยาได้ แต่ต้องเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีความปลอดภัยสูง แต่กรณีที่สภาการพยาบาลประกาศเช่นนี้เพราะมองว่าเมื่อเรียนมาก็สามารถจ่ายยา 18 กลุ่ม 129 รายการได้ แต่รู้หรือไม่ว่า รายการดังกล่าวได้รวมยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาฉีด การให้อาหารทางหลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องมีวิชาชีพเฉพาะเท่านั้นจึงจะปลอดภัย

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ที่เป็นสาระสำคัญและเป็นที่ถกเถียงกันคือ มาตรา 22 (5) ระบุว่า การจ่ายยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หรือการจ่ายยาตามวงเล็บ (4) ในกรณีซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพฑัณตกรรม ใช้ยารักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ใช้สำหรับสัตว์ที่ตนป้องกันหรือบำบัดโรค หรือจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยวิชาชีพที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า แม้จะอยู่ในฐานะเภสัชกร แต่อยากกล่าวในมุมมองของผู้บริโภคในประเด็นที่องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมคัดค้านว่าอาจเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นๆ จ่ายยาและขายยาได้เหมือนเภสัชกร

“ในแง่ของการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งคำถามว่าการจ่ายยาและขายยาจะต้องมีหลักเกณฑ์ ตอบสนองหรือคุ้มครองผู้บริโภคใช่หรือไม่ เนื่องจากในต่างประเทศกำหนดให้เภสัชกรจ่ายยาตามที่แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการโรค โดยแพทย์จะวินิจฉัยโดยการรักษาด้วยยาและรักษาโดยหัตถการทางการแพทย์ อาทิ การรักษาผู้ป่วยโดยเครื่องหรืออุปกรณ์อย่างการผ่าตัด เป็นต้น แต่ช่วงหลังเภสัชกรสามารถสั่งยาเองได้ เพราะมีการบูรณการทางวิชาชีพ สำหรับประเทศไทยอยากให้ดูรายละเอียดอย่างครบวงจร โดยเฉพาะประเด็นการสั่งจ่ายยา และจ่ายยาโดยเภสัชกรตามคลินิกร้านขายยานั้น เภสัชกรต้องประจำอยู่ร้านจริง ซึ่งปัจจุบันต้องถามว่าร้านขายยาเป็นเช่นนั้นหรือไม่” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดาอีกกล่าวว่า กรณีที่สภาการพยาบาลสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยาฯ ต้องถามว่าตามหลักวิชาชีพพยาบาลมีหน้าที่อะไร พยาบาลมีหน้าที่หลักคือการดูแลผู้ป่วยมากกว่าการวินิจฉัย ใช่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้สามารถดูรายละเอียดจากวิชาที่เรียนในหลักสูตรของพยาบาล เรื่องนี้จึงอยากให้มองภาพในองค์รวมอย่างครบถ้วน รวมถึงระบบสุขภาพของไทยด้วย

 

The post เภสัชกรค้าน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ หวั่นเปิดช่องให้วิชาชีพอื่น appeared first on Smart SME.

No comments:

Post a Comment