นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการและนายจ้างเรียกร้องให้มีการปลดล็อกอาชีพสงวนบางอาชีพ หลังจากห้ามมาตั้งแต่ปี 2522 มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพต่างๆ ถึงการปลดล็อกอาชีพสงวนบางอาชีพให้ต่างด้าวทำได้ รวมทั้งรับฟังความเห็นผ่านเว็ปไซต์ของกรมการจัดหางาน โดยได้สรุปผลแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่ม 1. ไม่เป็นงานห้ามอีกต่อไปจำนวน 2 งาน ประกอบด้วย งานกรรมกร และงานก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งเดิมเป็นงานห้าม แต่ผ่อนผันให้ทำแค่กรรมกรใช้แรงงานไม่ใช่งานฝีมือช่าง แต่เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน คนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ไม่ทำงานหนัก จึงให้ทำได้ แต่ต้องขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง
กลุ่มที่ 2. ให้ต่างด้าวทำได้ 10 งาน ส่วนใหญ่เป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิต คนไทยไม่นิยมทำ แต่จะอนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไข ต้องมีผู้จ้างงาน ไม่เป็นเจ้าของกิจการเอง โดยจะไม่อนุญาตให้ทำงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย ดังนี้ 1. งานกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขา 2. งานให้บริการวิชาชีพทางบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทางบัญชี แต่ไม่รวมถึงการตรวจสอบภายใน 3. งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4. งานทำมีด 5. งานทำรองเท้า 6. งานทำหมวก 7. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา 8. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ 9. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 10. งานปั้นหรือทำเครื่องดินเผา
และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มงานห้ามเด็ดขาดมี 28 งาน อาทิ งานแกะสลักไม้ ขับขี่ยานยนต์ ขายของหน้าร้าน เจียระไนหรือขัดเพชรพลอย งานตัดผม ดัดผม เสริมสวย งานมัคคุเทศก์ นำเที่ยว เร่ขายสินค้า โดยเพิ่มงานนวดไทย เป็นงานห้ามใหม่ 1 อาชีพ
ทั้งนี้ได้สรุปความเห็นจากจากทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก่อนออกประกาศเป็นกฎกระทรวง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 30 มิถุนายน 2561 เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จะมีผลทำให้คนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด หลังจากชะลอโทษมานานแล้ว
The post เคลียร์ 39อาชีพ แรงงานต่างด้าว ทำได้-ไม่ได้ มีผลบังคับใช้ 30 มิ.ย.2561 appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment