บุคคลชลประทาน องอาจ แสนอุบล ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2560 “ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ได้รับผิดชอบ”
การทำงานไม่ว่าอยู่ในบทบาทใด หากมุ่งมั่นตั้งใจความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เช่นเดียวกับ องอาจ แสนอุบล หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 ที่ยึดถือคติการทำงานว่า “ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ได้รับผิดชอบ” จึงทำให้ทุก ๆ ผลงานของข้าราชการชลประทานคนนี้โดดเด่น และได้รับเชิดชูเกียรติเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2560
นายองอาจ แสนอุบล เล่าให้ฟังว่า เขาจบจากวิทยาลัยการชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นนักเรียนช่างชลประทานรุ่นที่ 49 แต่ถ้าหากไล่เลียงชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เขาเป็นเพียงนักเรียนทุนคนหนึ่งที่อยากมีการศึกษาที่ดีแต่ขาดทุนทรัพย์ เมื่อรู้ว่าวิทยาลัยชลประทานมีการมอบทุนการศึกษา แน่นอนว่าขือเป็นหนึ่งหลาย ๆ คนทีต้องการไขวคว้าสิทธิ์และโอกาสนั้น
จากนักเรียนทุนสู่ข้าราชการกรมชลประทาน
นายองอาจ เล่าว่า “ตอนเด็ก ๆ ผมไม่เคยสัมผัสกับชลประทานเลย เพราะละแวกบ้านที่อยู่คืออำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี ค่อนข้างเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลแหล่งน้ำ ไม่มีโครงการชลประทาน และคนใกล้ตัวก็ไม่มีใครทำงานด้านนี้ หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย ก็ตั้งเป้าหมายจะเรียนด้านวิศวะ แต่ด้วยข้อจำกัดของทางบ้านที่ไม่พร้อมด้านทุนทรัพย์ จึงต้องหาทุนเรียน ซึ่งที่วิทยาลัยการชลประทานมีทุนให้เรียนจนจบและการได้เข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก เพราะได้เติมเต็มสิ่งที่ต้องการ และเห็นเส้นทางการทำงานที่ชัดเจน
หลังจากจบการศึกษา ผมก็เข้ารับราชการในสังกัดกรมชลประทาน โดยเริ่มต้นบทบาทการทำงานที่สำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน สามเสน ก่อนจะโอนย้ายมาที่ภูมิภาค สังกัดกลุ่มออกแบบ สำนักงานชลประทานที่ 7 และโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ตามลำดับ”
ปัจจุบันกับบทบาทหัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 ดูแลงานบริหารจัดการน้ำ ในเขตรับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งเกือบทุกจังหวัดเป็นพื้นที่ที่อยู่ปลายน้ำ จากพื้นที่บนสุดลำน้ำอูนลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงจังหวัดนครพนมที่ประสบภาวะแล้งและท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างสุดซึ่งถือว่าสำคัญมากในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลรวมกันเกิดภาวะท่วมหลากทุกปีก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาค่อนข้างซับซ้อน “ด้วยนโยบายการทำงานของกรมชลประทานที่เข้มข้นทำให้การทำงานที่ผ่านมาค่อนข้างหนัก มีการติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำแบบ Real time ซึ่งต้องมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา”
มุ่งพัฒนา แก้ปัญหาด้านน้ำ
นายองอาจ เล่าต่อว่า ในช่วงปี 2558 – 2559 สำหรับปัญหาที่เจอในพื้นที่ภาคอีสานนั้น ถือว่าแล้งที่สุดในรอบหลาย 10 ปีหน้าที่ขององอาจและเจ้าหน้าที่ชลประทานท่านอื่นๆ ต้องกำกับติดตาม การแจ้งเตือนสถานการณ์ เพื่อลดความเสียหายตามนโยบายของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงถือว่าสำคัญมาก เพราะต้องสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที
ต่อมาในช่วงปี 2559 – 2560 นายองอาจ เล่าว่า เป็นช่วงที่เขาและทีมงานมีแนวคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกำกับ ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝนให้มีความชัดเจนใช้งานสะดวก ง่ายในการเข้าถึง จึงได้มีการพัฒนาเป็นรูปแบบApplication ภายใต้ชื่อ WaterRio7 ซึ่งเป็น Applicationที่ใช้ในการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำขอพื้นที่ 5 จังหวัดในเขตสำนักงานชลประทานที่ 7 ผ่านทาง Smart phone โดยแบ่งหัวข้อการรายงานเป็น 6 หมวด คือ
1. ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ
2. ข้อมูลน้ำ ฝน
3. ข้อมูลปริมาณน้ำ ในอ่างเก็บน้ำ
4. ข้อมูลน้ำท่า
5. ข้อมูลสถานการณ์น้ำโขง
6. รายงานสถานการณ์น้ำเรียกได้ว่าทุกมิติด้านน้ำ Application บอกได้หมด
“นอกจาก Application ด้านสถานการณ์น้ำ (WaterRio7) แล้ว ผมและทีมงานยังได้พัฒนารูปแบบการกำกับ ติดตามงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยได้จัดทำฐานข้อมูลและการกำกับ ติดตามผ่าน Smart phone รูปแบบ Application ภายใต้ชื่อ Rio 7up A4 ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 7 ทั้งหมด 543 ราย
รวมถึงความก้าวหน้าต่าง ๆ รายละเอียดผังแปลงแหล่งน้ำต้นทุน พร้อมมีระบบนำทางไปถึงทุกแปลง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จตามเป้าหมายของกระทรวงฯ” ผลงานที่ภาคภูมิใจ “การรับมือสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดจราจรชะลอน้ำชี-มูล”
จากผลงานข้างต้นซึ่งเห็นผลประจักษ์ชัด ทำให้นายองอาจได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำ ปี 2560 นำ มาซึ่งความภาคภูมิใจ เพราะถือเป็นเครื่องมือชี้วัดการทำงานด้วยความทุ่มเทที่ผ่านมา ภายใต้หลักการทำงานที่ว่า “ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ได้รับผิดชอบ”
อีกหนึ่งผลงานที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของผม คือการร่วมจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลชะลอน้ำช่วงฤดน้ำหลากและเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดอุบลราชธานี โดยการติดตามสถานการณ์น้ำ เปิด – ปิดบานระบายน้ำของเขื่อนในลำน้ำชีและลำน้ำมูล เพราะถ้าหากปล่อยให้แม่น้ำทั้งสองสายไหลมาพร้อมกันและรวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นจุดรวมของน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ก่อนไหลลงสู่แม่โขง อาจเกินความจุที่รับได้และล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจ
ท้ายนี้ขอชื่นชมว่า นายองอาจ แสนอุบล ถือเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนเก่งของกรมชลประทานที่ยังคงเดินหน้าพัฒนางานที่ตนเองรับผิดชอบอย่างไม่หยุดนิ่ง
“การทำงานต้องมองภาพใหญ่ไว้ก่อน ไม่ได้มองเฉพาะหน้าตักของเรา อนาคตเป็นยุคที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการทำงาน สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ทำหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบและงานส่วนรวมของหน่วยงานอย่างเต็มกำลัง ตั้งเป้าผลลัพธ์ของทุก ๆ ภารกิจเชิงคุณภาพ สามารถตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เกิดความศรัทธา เชื่อมั่นต่อหน่วยงานกรมชลประทาน แล้วทุก ๆ มิติตัวชี้วัดของความสำเร็จจะส่งผลสะท้อนกลับมาที่ผู้ปฏิบัติอย่างเราเอง” นายองอาจ กล่าวทิ้งท้าย
The post บุคคลชลประทาน ประจำปี 2560 “ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ได้รับผิดชอบ” appeared first on Smart SME.