กระแสเงินสดถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องในระหว่างการดำเนินธุรกิจนั้นๆ หากมีการบริหารจัดการไม่ดีพอหรือขาดสภาพคลองในการหมุนเวียนทางการเงิน นั่นจะส่งผลเสียให้กับธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งในบางครั้งการขาดสภาพคล่องเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงเลยทีเดียว
ดังนั้น SME จะต้องมีหลักการบริหารจัดการที่ดี หรือ เทคนิคจัดการกระแสเงินสด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะต้องอาศัยความมีวินัย และมีระเบียบแบบแผนในการจัดการ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างราบรื่น
1.ตรวจสอบสถานะเงินสด
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ว่าบัญชีบริษัทมีเงินสดจำนวนเท่าไร มีกำลังเพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่ โดยหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เพื่อที่เราจะได้ทราบถึงจำนวนรายรับ–รายจ่ายที่เกิดขึ้น รวมถึงจำนวนเงินที่ยังคงค้างชำระเงินจากลูกหนี้หรือคู่ค้า ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนการบริหารจัดการเงินสดเพื่อนำไปใช้จ่ายต่อไปในอนาคตได้
2.ประเมินความเสี่ยงธุรกิจและเตรียมวิธีการรับมือ
สิ่งท้าทายในการลงทุนทำธุรกิจอย่างหนึ่งคือความเสี่ยงที่เราจะต้องเผชิญ ดังนั้น คุณจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในข่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เช่น
- เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากเข้าโดยไม่ทราบล่วงหน้า
- เมื่อลูกค้ามีปัญหา และ ยกเลิกการสั่งซื้อกระทันหัน
- เมื่อลูกค้าหายตัวไปในขณะที่ยังมียอดหนี้ค้างชำระ
หลังจากได้คำตอบแล้ว ลองดูว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราจะมีมาตรการรับมือและจัดการอย่างไรเพื่อให้กระทบกับการดำเนินธุรกิจน้อยและกระแสเงินสดน้อยที่สุด
3.บริหารจัดการลูกหนี้และเจ้าหนี้
ยิ่งผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ และดำเนินการชำระเงินกับเจ้าหนี้ได้เร็วเท่านั้นก็ยิ่งมีผลดีต่อธุรกิจ สำหรับลูกหนี้ควรจะมีนโยบายในการให้เครดิตสำหรับคู่ค้า เพื่อให้ชำระเงินโดยเร็วที่สุดอาจจะเป็น 30 หรือ 60 วัน และพยายามเร่งรัดหรือหาแรงจูงใจเพื่อให้ลูกหนี้ชำระเงินให้เร็วขึ้น และมีการติดตามทวงหนี้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับเจ้าหนี้ควรจะชำระเงินตรงตามกำหนด ไม่ผลัดผ่อนหนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างเครดิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ในกรณีที่เกิดความจำเป็นต้องขอเจรจาเพื่อยืดระยะเวลาชำระเงินออกไป ทั้งนั้นเมื่อคุณซื้อสินค้าอาจจะลองเปรียบเทียบดูว่ารายไหนให้เครดิตชำระเงินยาวนานกว่า เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาหมุนเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม
4.บริหารสภาพคล่องกับทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งาน
หากธุรกิจมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือมีสินค้าคงค้างอยู่ในสต็อคเป็นจำนวนมากและเริ่มเก่าล้าหลัง การขายสิ่งเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินคือสิ่งที่ควรทำ เนื่องจากการเก็บเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ถูกปล่อยว่างโดยไม่ได้ใช้งาน เก่าเกินไป หรือ ไม่สามารถใช้ได้แล้วไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ กับธุรกิจ แม้แต่สินค้าคงค้างในสต็อค ยิ่งเก็บนานวัน สินค้าก็ยิ่งเก่า ตกรุ่น และมูลค่าจะลดลงตามไปด้วย ดังนั้นการจัดกิจกรรมลดราคาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำ ถึงแม้ว่าการขายนั้นจะได้มาในราคาต่ำกว่ามูลค่าของสิ่งของ แต่ก็ย่อมดีกว่าที่จะปล่อยไว้จนสุดท้ายอาจจะไม่ได้รับอะไรกลับคืนมา
5.สำรองเงินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
ผู้ประกอบการไม่สามารถรู้ได้ว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกลูกค้ายกเลิกการสั่งซื้อ การประท้วงจากคนงาน ไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น ผู้ประกอบการควรเตรียมเงินสำรองเอาไว้เสมอ หากกระแสเงินสดเกิดติดลบคุณก็ยังมีเงินเอาไว้หมุนเวียนในธุรกิจ และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจต่างๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ หากกระแสเงินสดของคุณไม่เพียงพอจริงๆ อาจจะต้องหาแหล่งกู้ยืมจากแหล่งต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ต้องคำนวณภาระดอกเบี้ยที่จะขึ้นในอนาคตด้วย
นี่ก็เป็นอีก 5 เทคนิคจัดการกระแสเงินสด อย่างง่ายๆ ที่ผู้ประกอบการทุกคนสามารถบริหารจัดการกับสภาพคล่องทางการเงินกระแสเงินสด เพื่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น หมั่นทำให้เป็นนิสัยผู้ประกอบการก็จะสามารถประเมินสถานการณ์ทางการเงินและดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
เรียบเรียงจาก www.peerpower.co.th
Business Tips อื่นๆ
The post 5 เทคนิคจัดการกระแสเงินสด อย่างง่ายๆ สำหรับธุรกิจ SMEs appeared first on Smart SME.
No comments:
Post a Comment